ยุทธศาสตร์การพัฒนาพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ในเขตตำบลเวินพระบาท อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม
Main Article Content
Abstract
การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อ 1) ศึกษาสภาพปัญหาและความต้องการเกี่ยวกับการดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง 2) สร้างยุทธศาสตร์การพัฒนาพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง และ 3) ศึกษาผลการใช้ยุทธศาสตร์การพัฒนาความรู้ ความเข้าใจและพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง กลุ่มเป้าหมายจำนวน 14 คน เลือกแบบเจาะจงได้แก่ ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งอาศัยอยู่ในเขตตำบลเวินพระบาท อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้างและแบบทดสอบความรู้ความเข้าใจ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าที (t-test)
ผลการวิจัยปรากฏดังนี้
1. สภาพปัญหาและความต้องการเกี่ยวกับการดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ในเขตตำบลเวินพระบาท อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม พบว่า มีการเดินออกกำลังกายและตรวจสุขภาพเป็นบางครั้ง โดยมีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ไปตรวจ และผู้ป่วยต้องการให้โรงพยาบาลตำบลหรือหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ของจังหวัดเข้ามาให้บริการเป็นประจำทุกเดือน ในด้านการปฏิบัติกิจกรรมในการดูแลตนเอง พบว่า ผู้ป่วยต้องการการควบคุมอาหารประเภทไขมัน ต้องการควบคุมน้ำหนักตัว ออกกำลังกาย ผ่อนคลายความเครียด เลิกดื่มสุรา เลิกสูบบุหรี่ ต้องการที่จะรับประทานยาและไปตรวจตามนัดเป็นประจำ ความต้องการที่พวกเขาเน้นเป็นพิเศษได้แก่ การออกกำลังกาย การพักผ่อนและการจัดการกับความเครียด และการรับประทานยาที่ถูกวิธี
2. ยุทธศาสตร์พัฒนาพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ในเขตตำบลเวินพระบาท อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ที่สร้างขึ้นประกอบด้วย โครงการอบรมเพื่อพัฒนาพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งครอบคลุมถึงหลักการและเหตุผล เป้าหมาย ตัวชี้วัด งบประมาณและผลที่ได้รับ
3. ผลการใช้ยุทธศาสตร์ตามโครงการอบรมเพื่อพัฒนาดังกล่าว พบว่า ความรู้ ความเข้าใจและพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงอยู่ในระดับมากและหลังการอบรมตามโครงการพบว่า ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงมีความรู้ ความเข้าใจในการดูแลตนเองสูงกว่าก่อนการอบรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
Article Details
บทความทุกบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ถือว่าเป็นลิขสิทธิ์ของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร