ยุทธศาสตร์การจัดการอาชีวศึกษาในบริบทอาเซียน ของวิทยาลัยสารพัดช่างสังกัดสำนักงานคณะกรรมการ การอาชีวศึกษา

Main Article Content

โสภา มะเครือสี

Abstract

           การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อนำเสนอยุทธศาสตร์การจัดการอาชีวศึกษาในบริบทอาเซียน ของวิทยาลัยสารพัดช่าง สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โดยมีขั้นตอนในการวิจัยดังนี้ขั้นตอนที่ 1 การศึกษาและวิเคราะห์สภาพและปัญหาการจัดการอาชีวศึกษา จากกรณีศึกษาประเทศในอาเซียน 3 ประเทศ และจากกรณีศึกษาสถานศึกษาอาชีวศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ที่มีความร่วมมือกับประเทศอาเซียน 3 แห่ง เครื่องมือประกอบไปด้วยแบบบันทึกข้อมูลในการศึกษาเอกสาร และแบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง ขั้นตอนที่ 2 การกำหนดยุทธศาสตร์การจัดการอาชีวศึกษาในบริบทอาเซียน โดยใช้ข้อมูลจากการศึกษาและสัมภาษณ์ในขั้นตอนที่ 1 และปรับปรุงยุทธศาสตร์โดยอาศัยข้อมูลจากการสนทนากลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 13 คน เครื่องมือที่ใช้คือ ยุทธศาสตร์การจัดการอาชีวศึกษาที่กำหนดขึ้น แนวทางการสนทนากลุ่มและเอกสารภาพนิ่ง ประกอบการนำเสนอ คู่มือยุทธศาสตร์และแบบประเมินความเหมาะสม ความเป็นไปได้ และประโยชน์ ส่วนสถิติที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ประกอบไปด้วยค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา

            ผลการวิจัยครั้งนี้

                 1. สภาพการดำเนินงานเชิงยุทธศาสตร์ในการจัดการอาชีวศึกษาที่ได้จากกรณีศึกษาทั้งในและต่างประทศ ทั้ง 5 ด้าน พบว่า 1) ด้านการพัฒนาหลักสูตรอาชีวศึกษา กำหนดเป้าหมายบนเศรษฐกิจฐานความรู้ โครงสร้างหลักสูตรเน้นวิชาชีพ ใช้การเรียนรู้แบบฐานสมรรถนะอาชีพ และวัดผลจากการเรียนรู้จากสภาพจริง 2) ด้านการจัดการเรียนการสอน จัดการเรียนการสอนแบบฐานสมรรถนะอาชีพ โดยการปฏิบัติจริงร้อยละ 70-75  3) ด้านสื่อและเทคโนโลยี มีศูนย์สื่อและเทคโนโลยีโดยใช้ ICT และอินเตอร์เน็ต และมีศูนย์การเรียนรู้ด้วยตนเอง 4) ด้านการพัฒนาบุคลากร มีการฝึกอบรมสมรรถนะครูในการจัดการเรียนการสอนและภาษาอังกฤษ และกำหนดให้มีการจัดกิจกรรมการใช้ภาษาอังกฤษอย่างต่อเนื่อง 5) ด้านการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ มีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศในอาเซียนและนอกอาเซียน

               สภาพปัญหา พบว่า ส่วนใหญ่ขาดแคลนครูที่มีทักษะในการสอนแบบฐานสมรรถนะ ขาดแคลนงบประมาณในการจัดการเรียนรู้แบบฐานสมรรถนะในบางสาขาวิชามีการลงทุนสูง

  1. ผลการกำหนดยุทธศาสตร์การจัดการอาชีวศึกษามี 5 ด้านดังนี้ 1) ด้านการพัฒนาหลักสูตรอาชีวศึกษากำหนดเป้าหมายบนเศรษฐกิจฐานความรู้ ใช้การเรียนรู้แบบฐานสมรรถนะอาชีพและวัดผลจากการเรียนรู้จากสภาพจริง ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 2) ด้านการจัดการเรียนการสอน กำหนดจัดการเรียนการสอนแบบฐานสมรรถนะอาชีพ โดยการปฏิบัติจริงไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 และจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษในรายวิชาชีพอย่างน้อย 2-3 รายวิชา 3) ด้านสื่อและเทคโนโลยี กำหนดจัดตั้งศูนย์สื่ออาชีวศึกษา โดยใช้ ICT และอินเตอร์เน็ต จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ด้วยตนเอง และจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยี 4) ด้านการพัฒนาบุคลากร กำหนดมีการฝึกอบรมสมรรถนะครูในด้านการจัดการเรียนการสอนและภาษาอังกฤษ  รวมทั้งกำหนดการจัดกิจกรรมการใช้ภาษาอังกฤษอย่างต่อเนื่องและให้ครูรายงานผลการพัฒนาภาคเรียนละ 1 ครั้ง และ 5) ด้านการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกำหนดให้มีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับทั้งภาครัฐและเอกชนในประเทศ  และกำหนดให้มีการประสานความร่วมมือกับต่างประเทศในภูมิภาคอาเซียนและนอกภูมิภาคอาเซียนในการจัดการอาชีวศึกษา

Article Details

Section
บทความวิจัย