ปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาระบบบัญชีคอมพิวเตอร์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (e-LAAS) ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

Main Article Content

สมหญิง ตุ้มเมืองโดน

Abstract

วัตถุประสงค์การวิจัยเพื่อ 1) ศึกษาระดับปัญหาในการใช้งานระบบบัญชีคอมพิวเตอร์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (e-LAAS) 2) เปรียบเทียบปัญหาในการใช้งานระบบบัญชีคอมพิวเตอร์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (e-LAAS) ตามลักษณะส่วนบุคคล 3) เสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาในการใช้งานระบบบัญชีคอมพิวเตอร์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (e-LAAS) ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ ผู้ใช้งานระบบบัญชีคอมพิวเตอร์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (e-LAAS) ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา กลุ่มตัวอย่างมีจำนวน 88 คน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติ ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย
ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และค่า t-test, F-test

ผลการวิจัยพบว่า

     1. ปัญหาการใช้งานระบบบัญชีคอมพิวเตอร์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (e-LAAS) ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา โดยภาพรวมมีปัญหาอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่ามีปัญหาในระดับปานกลางทุกด้าน โดยด้านระบบรายรับมีปัญหาเป็นอันดับแรก รองลงมาได้แก่ด้านระบบบัญชี ด้านระบบรายจ่าย ด้านระบบงบประมาณ และด้านระบบรายงานผู้บริหาร ตามลำดับ

     2. ผู้ใช้งานระบบบัญชีคอมพิวเตอร์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (e-LAAS) ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ที่มีประสบการณ์การทำงานแตกต่างกัน มีปัญหาในการใช้งานระบบบัญชีคอมพิวเตอร์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (e-LAAS) ด้านระบบงบประมาณ ด้านระบบรายรับ ด้านระบบรายจ่าย ด้านระบบบัญชี และด้านระบบรายงานผู้บริหาร แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05

            3. แนวทางแก้ไขปัญหาในการใช้งานระบบบัญชีคอมพิวเตอร์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (e-LAAS) ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ด้านระบบงบประมาณ ควรจัดทำแบบฟอร์มการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณที่ทำด้วยระบบมือให้มีแบบฟอร์มเหมือนกับระบบบัญชีคอมพิวเตอร์ จัดส่งบุคลากรเข้ารับการฝึกอบรมระบบบัญชีคอมพิวเตอร์อย่างต่อเนื่อง และจัดหาวัสดุอุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการปฏิบัติงานให้เพียงพอ รวมทั้งจัดหาระบบการเชื่อมต่อให้มีประสิทธิภาพ

ด้านระบบรายรับ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ควรกำหนดแนวทางการปฏิบัติงานที่ชัดเจน และครอบคลุมถึงการปฏิบัติงานจริง ในด้านการรับฝากเงิน ใบนำส่ง นอกจากนั้นควรจัดทำโปรแกรมระบบแผนที่ภาษี เพื่อนำฐานผู้เสียภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีป้าย ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ไปเชื่อมโยงกับระบบรายรับ เพื่อให้สามารถรับเงินภาษีและออกใบเสร็จรับเงินได้อย่างถูกต้อง และการบันทึกรายการด้านรายรับ ต้องให้ตรงกับใบสำคัญสรุปใบนำส่ง สมุดเงินสดรับ และทะเบียนรายรับ ด้านระบบรายจ่าย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรจัดทำบันทึกในระบบบัญชีคอมพิวเตอร์ให้ตรงกับบันทึกในระบบมือ และการเบิกจ่ายเงินต่างๆ ให้เรียงตามรายงานการจัดทำเช็ค และยอดต้องตรงกับสมุดเงินสดจ่าย รวมถึงการบันทึกบัญชีให้ถูกต้องตามแผนงาน งาน หมวด ประเภท ยอดเงินต้องตรงกับฎีกาเบิกจ่ายเงิน ด้านระบบบัญชี องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องทำการบันทึกค่าตั้งต้นของระบบบัญชีให้ถูกต้องเป็นปัจจุบัน  ก่อนเข้าสู่ระบบบัญชีคอมพิวเตอร์ และ ด้านระบบรายงานผู้บริหาร กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ควรมีศูนย์กลางสำหรับให้บริการทางคอมพิวเตอร์สำหรับช่วยเหลือผู้ใช้กรณีระบบเกิดการขัดข้อง รวมทั้งเสนอให้รัฐบาลจัดหาระบบการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต และอุปกรณ์ที่ใช้ให้สามารถรองรับต่อระบบบัญชีคอมพิวเตอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และควรปรับปรุงระบบบัญชีคอมพิวเตอร์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (e-LAAS) เข้าระบบงานอื่นที่เกี่ยวข้องกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเพื่อลดปัญหาการทำงานที่ซ้ำซ้อน เนื่องจากปัจจุบันมีการปฏิบัติงานด้วยระบบมือและระบบคอมพิวเตอร์

Article Details

Section
บทความวิจัย