การพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบปฏิบัติการโดยใช้โครงงานเป็นฐาน ที่ส่งผลต่อความสามารถในการคิดเชิงมโนทัศน์ ความสามารถในการคิดแก้ปัญหา และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4

Main Article Content

เนตรนพิศ คตจำปา

Abstract

          การวิจัยครั้งนี้ มีความมุ่งหมายเพื่อ 1) ศึกษาดัชนีประสิทธิผลของชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบปฏิบัติการโดยใช้โครงงานเป็นฐาน กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4  2) เปรียบเทียบความสามารถในการคิดเชิงมโนทัศน์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 หลังได้รับการจัดการเรียนรู้ด้วยชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบปฏิบัติการโดยใช้โครงงานเป็นฐาน ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นกับเกณฑ์ที่กำหนดไว้  3) เปรียบเทียบความสามารถในการคิดแก้ปัญหาและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ระหว่างก่อนและหลังได้รับการจัดการเรียนรู้ด้วยชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบปฏิบัติการโดยใช้โครงงานเป็นฐาน ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น 4) เปรียบเทียบความสามารถในการคิดเชิงมโนทัศน์ ความสามารถในการคิดแก้ปัญหา และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่มีระดับจิตวิทยาศาสตร์แตกต่างกัน (ดี ปานกลาง และน้อย) ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้ด้วยชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบปฏิบัติการโดยใช้โครงงานเป็นฐาน กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น 

            กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนบ้านห้วยกอกหนองเค็ม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสกลนคร เขต 1 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2556 จำนวน 13 คน ได้มาด้วยวิธีการสุ่มแบบแบ่งกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1) ชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบปฏิบัติการโดยใช้โครงงานเป็นฐาน 2) แบบทดสอบวัดความสามารถในการคิดเชิงมโนทัศน์  3) แบบทดสอบวัดความสามารถในการคิดแก้ปัญหา 4) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน  5) แบบทดสอบวัดจิตวิทยาศาสตร์สำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษา สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าดัชนีประสิทธิผล (Effectiveness Index : E.I.) สถิติทดสอบค่าที (t-test for Dependent Samplesและt-test for One Samples) การวิเคราะห์ความแปรปรวนร่วมพหุคูณแบบทางเดียว (One–way MANCOVA) การวิเคราะห์ความแปรปรวนร่วมแบบทางเดียว (One–way ANCOVA) และการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียว (One-way ANOVA)

               ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้  1) ชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบปฏิบัติการโดยใช้โครงงานเป็นฐาน มีค่าดัชนีประสิทธิผล (The Effectiveness Index : E.I.) เท่ากับ 0.60 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ 2) ความสามารถในการคิดเชิงมโนทัศน์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้ด้วย ชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบปฏิบัติการโดยใช้โครงงานเป็นฐาน อยู่ในระดับดีขึ้นไป อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05  3) ความสามารถในการคิดแก้ปัญหาและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่เรียนด้วยชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบปฏิบัติการโดยใช้โครงงานเป็นฐาน หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05  4) ความสามารถในการคิดเชิงมโนทัศน์ การคิดแก้ปัญหา และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่มีจิตวิทยาศาสตร์ต่างกัน  เมื่อได้รับการจัดการเรียนรู้ด้วยชุดกิจกรรม  การเรียนรู้แบบปฏิบัติการโดยใช้โครงงานเป็นฐานแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และเมื่อผู้วิจัยทำการวิเคราะห์ความแปรปรวนร่วมแบบทางเดียวด้วยสถิติ One-Way ANCOVA แล้วจึงทำการวิเคราะห์ภายหลัง (Post Hoc) ด้วยสถิติ Bonferoni แล้วพบว่า มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ผลการวิเคราะห์ดังกล่าวมีดังนี้  4.1) นักเรียนที่มีจิตวิทยาศาสตร์ระดับดี มีความสามารถในการคิดเชิงมโนทัศน์สูงกว่านักเรียนที่มีจิตวิทยาศาสตร์ระดับปานกลางและน้อย และนักเรียนที่มีจิตวิทยาศาสตร์ระดับปานกลาง   มีความสามารถในการคิดเชิงมโนทัศน์สูงกว่านักเรียนที่มีจิตวิทยาศาสตร์ระดับน้อย อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05  4.2) นักเรียนที่มีจิตวิทยาศาสตร์ระดับดี  มีความสามารถในการคิดแก้ปัญหาสูงกว่านักเรียนที่มีจิตวิทยาศาสตร์ระดับปานกลางและน้อย และนักเรียนที่มีจิตวิทยาศาสตร์ระดับปานกลางและน้อย มีความสามารถในการคิดแก้ปัญหาไม่แตกต่างกัน  4.3) นักเรียนที่มีจิตวิทยาศาสตร์ระดับดี มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงกว่านักเรียนที่มีจิตวิทยาศาสตร์ระดับปานกลางและน้อย และนักเรียนที่มีจิตวิทยาศาสตร์ระดับปานกลางมีความสามารถในการคิดแก้ปัญหาสูงกว่านักเรียนที่มีจิตวิทยาศาสตร์ระดับน้อย อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

Article Details

Section
บทความวิจัย