การประเมินหลักสูตรสถานศึกษา กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 โรงเรียนเทศบาลหนองหญ้าม้าอำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด
Main Article Content
Abstract
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ประเมินหลักสูตรสถานศึกษา กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 โรงเรียนเทศบาลหนองหญ้าม้า อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด โดยประยุกต์แนวคิดการประเมินหลักสูตรของสเตค (The Stake’s Congruence Contingency Model)และไทเลอร์ ร่วมกับเกณฑ์การประเมินหลักสูตรของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นกรอบในการประเมิน 4 ด้าน คือ ด้านความสอดคล้องของหลักสูตร ด้านกระบวนการสร้างหลักสูตร ด้านการดำเนินการตามหลักสูตร และด้านผลผลิตของหลักสูตร 2) เพื่อศึกษาข้อเสนอแนะในการปรับปรุงหลักสูตรสถานศึกษา กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 โรงเรียนเทศบาลหนองหญ้าม้า อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วย แบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) มี 5 ระดับ จำนวน 2 ฉบับ แบบสัมภาษณ์ 2 ฉบับ และแบบบันทึกเอกสาร 1 ฉบับ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้สำหรับการประเมินหลักสูตรสถานศึกษามีจำนวนทั้งสิ้น 250 คน ประกอบด้วย นักเรียน 180 คน ผู้ปกครอง 70 คน และกลุ่มประชากรที่ใช้ในการศึกษาข้อเสนอแนะมีจำนวนทั้งสิ้น 4 คน ประกอบด้วย ครูผู้สอน 3 คน และผู้บริหาร 1 คน กลุ่มตัวอย่างที่ได้มาโดยการสุ่มแบบแบ่งชั้น (Stratified Random Sampling) และการสุ่มอย่างง่าย (Sample Random Sampling) สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
- ผลการประเมินหลักสูตรสถานศึกษาปรากฏดังนี้
1.1 ด้านความสอดคล้องของหลักสูตร วิสัยทัศน์ และพันธกิจ มีความชัดเจน สอดคล้องกับสภาพและบริบทของสถานศึกษา และสอดคล้องกับสภาวะปัจจุบัน สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง มีการกำหนดแผนงาน โครงการ และกิจกรรมเพื่อไปสู่การปฏิบัติ มีองค์ประกอบที่สอดคล้อง ได้แก่ ด้านการบริหารจัดการ ที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีคุณธรรม จริยธรรม ความเป็นเลิศทางวิชาการ คุณภาพของบุคลากร แหล่งเรียนรู้ และการเตรียมความพร้อมสู่อาเซียน ด้านการเรียนการสอน มีการสอดแทรกในรายวิชาของหลักสูตรให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของโรงเรียน และด้านกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน มีการจัดกิจกรรมและโครงการต่างๆ ที่ส่งเสริมและปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม และความรู้แก่นักเรียนและบุคลากรให้มีคุณภาพ เพื่อบรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ของโรงเรียน
1.2 ด้านกระบวนการสร้างหลักสูตร การวางแผนและการจัดทำหลักสูตร ผู้บริหารและครูผู้สอนมีส่วนร่วมในการกำหนดโครงสร้างหลักสูตร การเขียนคำอธิบายรายวิชา และการจัดทำหน่วยการเรียนรู้ โดยจัดให้มีการประชุมการจัดทำหลักสูตรกลุ่มสาระของโรงเรียนร่วมกัน และสรุปแนวทางการจัดทำหลักสูตรให้เป็นแนวทางเดียวกัน โดยยึดหลักสูตรแกนกลางเป็นหลัก การเตรียมความพร้อมของหลักสูตร ด้านบุคลากร สื่อ อุปกรณ์ อาคารสถานที่ มีการเตรียมความพร้อมและมีความเพียงพอต่อความต้องการของนักเรียน ข้อเสนอแนะคือ ควรมีการจัดให้มีห้องเรียนรู้คณิตศาสตร์สำหรับนักเรียนเพื่อศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม และในการจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ควรส่งเสริมให้ผู้เรียนค้นหาความรู้จากแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลายและใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นแหล่งเรียนรู้
1.3 ด้านการดำเนินการตามหลักสูตร นักเรียนและผู้ปกครองมีความคิดเห็นว่า ในด้านการดำเนินการตามหลักสูตรโดยรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก ได้แก่ แหล่งการเรียนรู้ อาคารสถานที่ สภาพห้องเรียน สื่อ อุปกรณ์ การเรียนการสอน และการวัดและประเมินผล ครูผู้สอนมีการจัดการเรียนรู้ครบทุกสาระการเรียนรู้ตามหลักสูตร และครบมาตรฐานการเรียนรู้ การวัดและประเมินผลมีความสอดคล้องกับมาตรฐานและตัวชี้วัดตามหลักสูตรกลุ่มสาระ ข้อเสนอแนะคือ ควรมีการวัดและประเมินผลที่ครอบคลุมในสิ่งที่ต้องการวัดทุกๆด้าน ซึ่งการวัดและประเมินผลผู้เรียนจากการปฏิบัติจริง ควรให้เหมาะสมกับระดับความสามารถของผู้เรียนด้วย
1.4 ด้านผลผลิตของหลักสูตร นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเฉลี่ยและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์อยู่ในระดับกลาง ซึ่งนักเรียนและผู้ปกครองมีความคิดเห็นว่า ในด้านผลผลิตของหลักสูตรโดยรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก ได้แก่ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ โดยคุณลักษณะอันพึงประสงค์และทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนเป็นไปตามหลักสูตรสถานศึกษาที่กำหนดไว้เพื่อเป็นตัวชี้วัด นักเรียนสามารถนำความรู้ทางคณิตศาสตร์ไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน และบูรณาการ เชื่อมโยงความรู้ทางคณิตศาสตร์เข้ากับรายวิชาอื่นๆ ได้
2. ข้อเสนอแนะการปรับปรุงหลักสูตร
2.1 ด้านความสอดคล้องของหลักสูตร บุคลากรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดทำหลักสูตรควรตระหนักถึงความสำคัญของการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา ควรให้มีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำหลักสูตรมากยิ่งขึ้น
2.2 ด้านกระบวนการสร้างหลักสูตร ในการจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ควรส่งเสริมให้ผู้เรียนค้นหาความรู้จากแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลายและใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นแหล่งเรียนรู้
2.3 ด้านการดำเนินการตามหลักสูตร ควรมีการวัดและประเมินผลที่ครอบคลุมในสิ่งที่ต้องการวัดทุกๆ ด้าน ซึ่งการวัดและประเมินผลผู้เรียนจากการปฏิบัติจริง ควรให้เหมาะสมกับระดับความสามารถของผู้เรียนด้วย
2.4 ด้านผลผลิตของหลักสูตร ครูผู้สอนต้องเอาใจใส่นักเรียนให้มาก มีการเตรียมการสอนก่อนสอนเสมอ จัดการเรียนการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ให้ผู้เรียนได้ศึกษาค้นคว้าจากแหล่งเรียนรู้ทั้งภายในและนอกสถานศึกษา
โดยรวมควรปรับปรุงการดำเนินงานให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ และพันธกิจที่กำหนดไว้ในหลักสูตร จัดรายรายวิชาที่สอดแทรกกรอบการดำเนินงานตามวิสัยทัศน์อย่างชัดเจน และประเมินผลลัพธ์ตามวิสัยทัศน์อย่างต่อเนื่อง
โดยสรุป หลักสูตรสถานศึกษา กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 โรงเรียนเทศบาลหนองหญ้าม้า อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด มีความสอดคล้องและเหมาะสมอยู่ในระดับมากในทุกด้านและประเด็น จึงสมควรใช้หลักสูตรนี้ต่อไป ผู้ที่เกี่ยวข้องควรหาทางพัฒนาให้หลักสูตรมีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น เพื่อความเป็นเลิศด้านวิชาการและคณิตศาสตร์ต่อไป
Article Details
บทความทุกบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ถือว่าเป็นลิขสิทธิ์ของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร