การพัฒนายุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้ สาระสังคมศึกษา ศาสนา และ วัฒนธรรม ที่ใช้สมองเป็นฐานโดยบูรณาการเรียนรู้ตามแนวพระพุทธศาสนาเพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น

Main Article Content

จำเนียร โพสาวัง

Abstract

        การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนายุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้ สาระสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมที่ใช้สมองเป็นฐานโดยบูรณาการการเรียนรู้ตามแนวพระพุทธศาสนา เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และ 2) ศึกษาผลการใช้ยุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้ สาระสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ที่ใช้สมองเป็นฐานโดยบูรณาการการเรียนรู้ตามแนวพระพุทธศาสนาเพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โดยแบ่งการวิจัยออกเป็น 3 ระยะ ระยะที่ 1 ศึกษาปัญหาการจัดการเรียนการสอน สาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โดยสอบถามครู จำนวน 56 คน และแนวคิด ทฤษฎีการจัดการเรียนรู้สาระสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม โดยการสัมภาษณ์จากผู้เชี่ยวชาญจำนวน 5 คน การวิเคราะห์ข้อมูล โดยการหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ระยะที่ 2 พัฒนายุทธศาสตร์การจัดการการเรียนเรียนรู้โดยผ่านการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 5 คน ระยะที่ 3 ศึกษาผลการใช้ยุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้ สาระสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ที่ใช้สมองเป็นฐานโดยบูรณาการการเรียนรู้ ตามแนวพระพุทธศาสนา เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ประชากร เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนโสกก่ามวิทยา จังหวัดบึงกาฬ ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2557 จำนวน 106 คน กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนโสกก่ามวิทยา จำนวน 70 คน ได้มาจากการสุ่ม โดยการสุ่มแบบแบ่งกลุ่ม (Cluster Random Sampling) จำนวน 2 ห้องเรียน ห้องเรียนละ 35 คน โดยจัดเป็นกลุ่มทดลอง ได้รับการสอนตามยุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้ที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้น และกลุ่มควบคุมได้รับการสอนตามคู่มือครู เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย 1) แผนการจัดการเรียนรู้สำหรับกลุ่มทดลองและแผนการจัดการเรียนรู้สำหรับกลุ่มควบคุม 2) แบบวัดการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และ 3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน วิเคราะห์ข้อมูล โดยการหาค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบสมมติฐานโดย โดยใช้การทดสอบทีชนิดสองกลุ่มอิสระ ผลการวิจัยพบว่า

                 1. ยุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้สาระสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมที่ใช้สมองเป็นฐานโดยบูรณาการเรียนรู้ตามแนวพระพุทธศาสนาเพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ที่พัฒนาขึ้นประกอบด้วย 7 ขั้นตอน ได้แก่ 1) ขั้นสำรวจประเด็น 2) ขั้นการให้ความรู้พื้นฐาน 3) ขั้นการวิเคราะห์ 4) ขั้นการเรียนรู้สถานการณ์ 5) ขั้นวางแผนการจัดการ 6) ขั้นลงมือปฏิบัติ และ 7) ขั้นแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผลการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญ พบว่า ยุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้มีค่าเฉลี่ย 4.47 ซึ่งมีความเหมาะสมในระดับมาก

                  2. ผลการใช้ยุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้ พบว่า

                      2.1 นักเรียนกลุ่มทดลองมีความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณหลังเรียนสูงกว่ากลุ่มควบคุม

                      2.2 นักเรียนกลุ่มทดลองมีความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณเท่ากับ 87.23 ไม่น้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ร้อยละ 80

                      2.3 นักเรียนกลุ่มทดลองมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสาระสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม หลังเรียนสูงกว่ากลุ่มควบคุม

                      2.4 นักเรียนกลุ่มทดลองมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสาระสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรมเท่ากับ 82.85 ไม่น้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ร้อยละ 80

Article Details

Section
บทความวิจัย
Author Biography

จำเนียร โพสาวัง

นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา สาขาวิชายุทธศาสตร์การจัดการเรียนรู้  มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี