เที่ยววัด : แนวทางการพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ วัฒนธรรมริมฝั่งแม่น้ำโขง จังหวัดหนองคาย

Main Article Content

เยาวลักษณ์ เหล่าฤทธิ์

Abstract

          วัดเป็นศูนย์กลางของชุมชนได้มีการสร้างปูชนียสถาน ปูชนียวัตถุ มีภูมิทัศน์สวยงามที่มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมและปัจจุบันเป็นทรัพยากรแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ การวิจัยครั้งนี้กำหนดความมุ่งหมายไว้เพื่อศึกษาประเด็นต่อไปนี้พื้นที่วิจัยคือจังหวัดหนองคายจำนวน  3 วัดเก็บข้อมูลจากเอกสารและภาคสนามด้วยวิธีการสำรวจสังเกตสัมภาษณ์ และสนทนากลุ่มกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาจำนวน 80 คน  ประกอบด้วย กลุ่มผู้รู้จำนวน 13  คน กลุ่มผู้ปฏิบัติ จำนวน30 คนและกลุ่มทั่วไป จำนวน 28 คน  ข้อมูลที่ได้นำมาตรวจสอบแบบสามเส้าและวิเคราะห์ตามความมุ่งหมาย  เสนอผลการวิจัยโดยวิธีพรรณนาวิเคราะห์

            ผลการวิจัยพบว่า 

                        ประวัติความเป็นมาของวัด ในพื้นที่จังหวัดหนองคาย มีความเกี่ยวข้องกับประวัติชาติพันธุ์ของฝั่งโขงปรากฏหลักฐานจากเอกสาร โบราณสถาน โบราณวัตถุ โดยเฉพาะสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชแห่งราชอาณาจักรล้านช้าง ระยะต่อมามีความผูกพันกับทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองของราชอาณาสยามปัจจุบัน วัดเหล่านี้มีความสำคัญด้านประวัติศาสตร์ พุทธปฏิมา และภูมิทัศน์ของวัด สำหรับวัดที่ทำการศึกษาประกอบด้วย 1) วัดพระธาตุบังพวนวัดพระธาตุบังพวน สร้างในราว พ.ศ. 2266 ตามตำนานกล่าวไว้ว่าเมื่อประมาณสองพันปีเศษ พระอรหันต์เข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนา ได้นำพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้าส่วนหัวเหน่ามาบรรจุไว้ สมัยต่อมาพระไชยเชษฐาธิราชกษัตริย์แห่งล้านช้าง ได้มาบูรณะเจดีย์และสร้างวัดขึ้น มีการอนุรักษ์และปรับปรุงวัดจนถึงปัจจุบัน ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2216 2) วัดศรีชมพูองค์ตื้อ วัดนี้มีความสำคัญที่พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ขนาดใหญ่ สร้างในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชครองเมืองเวียงจันทน์ ชาวบ้านเรียกว่าพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ เนื่องจากใช้โลหะจำนวนมาก 3) วัดโพธิ์ชัย เดิมชื่อ วัดผีผิว ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นวัดโพธิ์ชัย ใน สมัยกรุงรัตนโกสินทน์ เป็นสถานที่ประดิษฐานหลวงพ่อพระใส มีพระพุทธลักษณะงดงามมาก ตำนานกล่าวว่าสร้างโดยพระราชธิดาพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์แห่ง ล้านช้าง ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ. 2523 ประกอบพิธีผูกพัทธสีมา พ.ศ. 2524 ยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี

              สภาพปัจจุบันปัญหาการท่องเที่ยววัดพบว่า วัดทั้งสามแห่งมีปัญหาด้านการอนุรักษ์ศิลปกรรม ได้แก่ พระพุทธปฏิมา สถาปัตยกรรม ขาดการปรับปรุงภูมิทัศน์อาณาบริเวณ ระบบนิเวศภายในวัด ขาดการปรับปรุงสาธารณูปโภคได้แก่ ห้องน้ำสำหรับรองรับผู้มาเยือน อาคาร สถานที่จอดรถ ถนน ที่พัก ร้านอาหาร ร้านของที่ระลึก ส่วนด้านข้อมูลขาดป้ายบอกทาง ป้ายข้อมูล บุคลากรการท่องเที่ยว ประเด็นเหล่านี้ยังเป็นปัญหาจนถึงปัจจุบัน

                 แนวทางการพัฒนาศักยภาพวัดเพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรม ควรมีการอนุรักษ์ปรับปรุงงานศิลปกรรมวัด ปรับปรุงภูมิทัศน์ระบบนิเวศ มีการปรับปรุงห้องน้ำ อาคารที่ใช้ประโยชน์ ป้ายข้อมูลภายในวัด ที่จอดรถ บุคคลที่ให้ข้อมูลด้านองค์ประกอบของการท่องเที่ยวภายนอกได้แก่ ร้านอาหาร ถนน ป้ายบอกทาง แหล่งธรรมชาติ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่เข้ามาใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม

                 สรุปได้ว่า วัดนอกจากจะเป็นศาสนสถานที่ใช้ประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาแล้วยังมีสิ่งที่น่าสนใจที่สามารถปรับปรุงพัฒนาให้มีคุณค่าทางด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม งานวิจัยนี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์สำหรับการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวได้ตามสมควร

Article Details

Section
บทความวิจัย