ประติมากรรมสลักหิน:แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ของชุมชนนากระเดา อำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์
Main Article Content
Abstract
ประติมากรรมสลักหินในดินแดนมีมาตั้งแต่สมัยโบราณเกี่ยวเนื่องกับรูปเคารพในศาสนา ช่างปัจจุบันยังคงคัดลอกเลียนแบบและสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่องการวิจัยครั้งนี้กำหนดความมุ่งหมายไว้เพื่อศึกษาประเด็นต่อไปนี้ 1) ประวัติความเป็นมา ของงานประติมากรรมสลักหิน 2) สภาพปัจจุบันและปัญหา ของการพัฒนางานประติมากรรมสลักหิน 3) แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ พื้นที่การศึกษาประติมากรรมสลักหิน คือ ชุมชนนากระเดา อำเภอนาคูจังหวัดกาฬสินธุ์เก็บข้อมูลจากเอกสารและภาคสนามด้วยวิธีการสำรวจ สังเกต สัมภาษณ์ สนทนากลุ่ม กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาจำนวน 81คน ประกอบด้วย กลุ่มผู้รู้จำนวน 15คน กลุ่มผู้ปฏิบัติ จำนวน30 คนและกลุ่มทั่วไป จำนวน 36คนข้อมูลที่ได้นำมาตรวจสอบแบบสามเส้าและวิเคราะห์ตามความมุ่งหมายเสนอผลการวิจัยโดยวิธีพรรณนาวิเคราะห์
ผลการวิจัยพบว่า
1. ประวัติความเป็นมา ของงานประติมากรรมสลักหิน ชุมชนนากระเดา อำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์ประวัติความเป็นมา บริเวณภาคอีสานมีความเจริญรุ่งเรืองตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์เรื่อยมาถึงสมัยประวัติ ทวารวดี สมัยลพบุรีขอม ซึ่งในแต่ละยุคได้นำหินมาเป็นวัสดุสร้างงานศิลปะ สำหรับชุมชนนากระเดาเป็นส่วนหนึ่งของเมืองภูแล่นช้างตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2388ด้านงานประติกรรมสลักหินอีสานที่ทำการศึกษา เริ่มต้นจากนายจันที แหวนเพชรครั้งวัยหนุ่มได้บรรพชาเป็นสามเณรก่อนลาสิกขาพระครูสอน สนฺตจิตฺโต ได้แนะนำให้ยึดอาชีพแกะสลักพระพุทธรูปไม้ต่อมาจึงเริ่มแกะสลักหิน การที่นายจันที มีประสบการณ์เพิ่มขึ้นเนื่องจากได้รู้จักช่างแกะสลักในไทยหลายคน และไปศึกษาดูงานศิลปะขอมโบราณที่นครวัดและนครธม แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานกับช่างชาวกัมพูชาเมื่อเผชิญกับสภาวะสงครามจึงเดินทางเข้าเมืองปากเซแขวงจำปาศักดิ์ สปป. ลาว หวังจะข้ามแดนที่ช่องเม็กจังหวัดอุบลราชธานี ระว่างเดินทางถึงเมืองปากเซได้แวะขอพักแรมที่วัดโพธิ์มีเจ้าอาวาสคือพระครูคำดี ได้พาไปพบกับเสด็จเจ้าบุญอ้อมจากนั้นให้ทำงานประติมากรรมสลักหินจำลองโบราณวัตถุหลายชิ้น ในระยะเวลาประมาณ 3 ปี เมื่อสถานการณ์สงครามรุนแรงขึ้นนายจันทีจึงขอกลับประเทศไทย จากนั้นได้รู้จักกับอาจารย์วิโรฒศรีสุโร ได้พานักศึกษามาศึกษาดูงานประติมากรรมสลักหินจึงทำให้องค์รู้ด้านนี้แพร่หลายออกไปในอีสาน ส่วนหนึ่งกลายเป็นอาชีพของชาวบ้านนากระเดาโดยมีบุตรชายทั้ง 5 คนเป็นกำลังสำคัญสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
สภาพปัจจุบันและปัญหา ของการพัฒนางานประติมากรรมสลักหิน ปัจจุบันมีปัญหาคือ 1) วัสดุ การเคลื่อนย้ายมีความลำบากเนื่องจากหินมีน้ำหนักมากแต่ปัจจุบันมีเครื่องทุ่นแรงเข้ามาช่วยจึงทำให้การทำงานสะดวกยิ่งขึ้น 2) เครื่องมือที่ใช้สลักหินสมัยแรกเริ่มส่วนใหญ่จะใช้เหล็กสลัก แต่ปัจจุบันเริ่มมีการนำเครื่องทุ่นแรงเครื่องมือช่างโดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้า 3) องค์ความรู้ในการแกะสลัก ช่างแต่ละคนมีความรู้ประสบการณ์ต่างกัน งานที่สร้างขึ้นมาจึงมีคุณลักษณะโดดเด่นคนละด้าน 4) การเคลื่อนย้ายและการจำหน่ายทำได้ยากเนื่องจากมีน้ำหนักมากและบางครั้งหากไม่ระวังจะเกิดความเสียหายต่อชิ้นงาน 5) ปัญหาการประยุกต์เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์พบว่ามีการทำเลียนแบบและทำตามสั่งเท่านั้นจึงควรมีการพัฒนาต่อยอด
แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ เดิมทีช่างส่วนมากจะสะสลักเฉพาะรูปเคารพในทางศาสนาซึ่งเลียนแบบสืบต่อกันมา ช่างแต่ละคนจำเป็นต้องทำความเข้าใจกับงานศิลปะของแต่ละยุคสมัยนอกจากนี้แล้วจะต้องเข้าใจส่วนสัดและขนาดที่ได้รับการกำหนดไว้อย่างแม่นยำ นอกจากนี้ควรมีการประยุกต์ใช้วัสดุอุปกรณ์รวมทั้งการศึกษาดูงานในแหล่งอื่นเพื่อสามารถนำมาพัฒนางานให้ดียิ่งขึ้นด้านการพัฒนาควรมีขั้นตอนการออกแบบบนฐานเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ประกอบไปด้วย1) ขั้นตอนการออกแบบ 2)ขั้นตอนการเขียน 3)ขั้นตอนการปั้นต้นแบบ4)ขั้นตอนการเตรียมวัสดุ 5)ขั้นตอนการเตรียมเครื่องมือ และ6)ขั้นตอนการปฏิบัติงานสลัก ประเด็นดังกล่าวจะทำให้งานมีคุณภาพยิ่งขึ้น
โดยสรุปประติมากรรมสลักหินเป็นสิ่งที่ทรงคุณค่าเนื่องจากเป็นงานศิลปะที่ต้องใช้ความวิริยะอุตสาหะในการสร้างสรรค์และส่วนที่มีคุณค่าอีกประการหนึ่งคือด้านจิตใจซึ่งเกี่ยวเนื่องกับคติความเชื่อทางศาสนา นอกจากนี้แล้วควรพัฒนาให้เกิดงานในเชิงสร้างสรรค์ที่สอดคล้องความต้องการของผู้คนยุคปัจจุบันงานวิจัยนี้จึงสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ตามสมควร
Article Details
บทความทุกบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ถือว่าเป็นลิขสิทธิ์ของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร