ผลการใช้แผนการจัดการเรียนรู้แบบซิปปาร่วมกับเทคนิคผังกราฟิกที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ และความพึงพอใจต่อการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ ของนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
Main Article Content
Abstract
การวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อ 1) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ก่อนเรียนและหลังเรียน ของนักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบซิปปาร่วมกับเทคนิคผังกราฟิก 2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ และความพึงพอใจต่อการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ หลังเรียนระหว่างนักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบซิปปาร่วมกับเทคนิคผังกราฟิกและการจัดการเรียนรู้แบบปกติ 3) ศึกษาปฏิสัมพันธ์ (Interaction) ระหว่างความสามารถทางการเรียนของนักเรียน และวิธีการจัดการเรียนรู้ ที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ และความพึงพอใจต่อการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ เลือกกลุ่มตัวอย่างโดยวิธีสุ่มแบบแบ่งกลุ่ม (Cluster Random Sampling) จากนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนธาตุนารายณ์วิทยา จังหวัดสกลนคร ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2555 จำนวน 80 คน จำนวน 2 ห้องเรียน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1) แผนการจัดการเรียนรู้แบบซิปปาร่วมกับเทคนิคผังกราฟิก และแผนการจัดการเรียนรู้แบบปกติ 2) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง ระบบต่างๆ ในร่างกายมนุษย์ 3) แบบทดสอบวัดความสามารถในการคิดวิเคราะห์ 4) แบบสอบถามความพึงพอใจต่อการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติทดสอบค่าที่ (t-test for Dependent Group) การวิเคราะห์ความแปรปรวนพหุคูณทางเดียว (One–Way MANOVA) การวิเคราะห์ความแปรปรวนสองทาง (Two – Way ANOVA) และ การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One – Way ANOVA)
ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
1. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ของนักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบซิปปาร่วมกับเทคนิคผังกราฟิก หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน
2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ และความพึงพอใจต่อการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ หลังเรียน ของนักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบซิปปาร่วมกับเทคนิคผังกราฟิก และนักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบปกติ แตกต่างกัน
3. ความสามารถทางการเรียนของนักเรียน และวิธีการจัดการเรียนรู้ มีปฏิสัมพันธ์ทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ของนักเรียน มีความแตกต่างกัน แต่ความสามารถทางการเรียนของนักเรียน และวิธีการจัดการเรียนรู้ ไม่มีปฏิสัมพันธ์ทำให้ความพึงพอใจต่อการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ ของนักเรียนไม่แตกต่างกัน
Article Details
บทความทุกบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ถือว่าเป็นลิขสิทธิ์ของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร