รูปแบบความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของตัวแปรที่ส่งผลต่อระดับพฤติกรรมการมีจิตสาธารณะของเยาวชนไทยในจังหวัดสกลนคร
Main Article Content
Abstract
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับพฤติกรรมการมีจิตสาธารณะ และหาความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของตัวแปรที่ส่งผลต่อระดับพฤติกรรมการมีจิตสาธารณะของ เยาวชนไทยในจังหวัดสกลนครซึ่งประกอบไปด้วยตัวแปรระดับอายุ เพศ ฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว ระดับการศึกษา วิธีการอบรมเลี้ยงดู ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ประสบการณ์ทางสังคม ความเชื่ออำนาจในตน สุขภาพจิต กลุ่มเพื่อน แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ เหตุผลเชิงจริยธรรม ลักษณะมุ่งอนาคตและควบคุมตน และทัศนคติ ค่านิยมและคุณธรรม และเพื่อเปรียบเทียบระดับพฤติกรรมการมีจิตสาธารณะของ เยาวชนไทยในจังหวัดสกลนคร ที่เรียนอยู่ในระดับชั้นที่แตกต่างกัน รวมถึงมุ่งพัฒนาระดับพฤติกรรมการมีจิตสาธารณะของ เยาวชนไทยในจังหวัดสกลนครที่เป็นกลุ่มต่ำซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยง
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ได้แก่ เยาวชนที่ศึกษาอยู่ในสถานศึกษาในจังหวัดสกลนคร ประจำปีการศึกษา 2554 จำนวน 599 คน ประกอบด้วยนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 150 คน ในโรงเรียนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 149 คน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 150 คน นักศึกษาระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 3 จำนวน 150 คน และกลุ่มตัวอย่างเยาวชนที่ใช้ในการทดลองรูปแบบการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาพฤติกรรมการมีจิตสาธารณะของ เยาวชนไทยในจังหวัดสกลนครที่เป็นกลุ่มเสี่ยงจำนวน 39 คน เครื่องมือที่ใช้การเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วยแบบสอบถามจำนวน 13 ฉบับ โดยมีค่าอำนาจจำแนกอยู่ระหว่าง 0.37-0.78 มีค่าความเชื่อมั่น อยู่ระหว่าง 0.89-0.93 และการใช้รูปแบบการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาพฤติกรรมการมีจิตสาธารณะ
การวิเคราะห์ข้อมูลใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป ทำการวิเคราะห์ค่าสถิติบรรยาย การวิเคราะห์ค่าสหสัมพันธ์ การวิเคราะห์ค่าสถิติทีชนิดกลุ่มตัวอย่างเป็นอิสระต่อกัน (t–test ชนิด Independent Samples) ค่าสถิติทีชนิดกลุ่มตัวอย่าง
ไม่ เป็นอิสระต่อกัน (t- test ชนิด Dependent Samples) และใช้โปรแกรม LISREL Version 8.3 ในการวิเคราะห์เส้นทาง
ผลการวิจัยพบว่า 1) เยาวชนไทยในจังหวัดสกลนครมีระดับพฤติกรรมการมีจิตสาธารณะอยู่ในระดับมากทั้งโดยรวมและรายด้าน 2) ตัวแปรภายนอกที่มีผลโดยตรงและโดยอ้อมต่อระดับพฤติกรรมการมีจิตสาธารณะของเยาวชนไทย ในจังหวัดสกลนครอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 เรียงลำดับจากมากไปหาน้อยดังนี้คือ 2.1) ระดับอายุ 2. 2) ระดับการศึกษา และ 2.3) ฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว ส่วนตัวแปรเพศมีผลโดยอ้อมต่อระดับพฤติกรรมการมีจิตสาธารณะ ของเยาวชนไทยในจังหวัดสกลนครอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 3) ตัวแปรภายในที่มีผลโดยตรงและโดยอ้อม ต่อระดับพฤติกรรมการมีจิตสาธารณะของเยาวชนไทยในจังหวัดสกลนครอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 เรียงลำดับจากมากไปหาน้อยดังนี้คือ 3.1) แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ 3.2) ทัศนคติ ค่านิยม และคุณธรรม 3.3) กลุ่มเพื่อน 3.4) สุขภาพจิต3.5) ความเชื่ออำนาจในตน 3.6) วิธีการอบรมเลี้ยงดู 3.7) ประสบการณ์ทางสังคม 3.8) ลักษณะมุ่งอนาคตควบคุมตนส่วนตัวแปร
เหตุผลเชิงจริยธรรม และระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนมีผลโดยอ้อมต่อระดับพฤติกรรมการมีจิตสาธารณะของเยาวชนไทยในจังหวัดสกลนครอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 4) เยาวชนไทยในจังหวัดสกลนครที่กำลังเรียนอยู่ในระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 3 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีระดับพฤติกรรมการมีจิตสาธารณะโดยรวมและรายด้านสูงกว่าเยาวชนไทยในจังหวัดสกลนครที่กำลังเรียนอยู่ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ส่วนเยาวชนไทยในจังหวัดสกลนครที่กำลังเรียนอยู่ในระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 3 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีระดับพฤติกรรมการมีจิตสาธารณะโดยรวมและรายด้านไม่แตกต่างกัน 5) หลังได้รับการพัฒนาพฤติกรรมการมีจิตสาธารณะ เยาวชนไทยในจังหวัดสกลนครที่กำลังเรียนอยู่ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีระดับพฤติกรรมการมีจิตสาธารณะโดยรวมและ
รายด้านทุกด้านสูงกว่าก่อนการพัฒนาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
Article Details
บทความทุกบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ถือว่าเป็นลิขสิทธิ์ของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร