ผลของการจัดการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์โดยใช้ปัญหาเป็นหลักร่วมกับหลักอริยสัจ 4 ที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ความสามารถในการแก้ปัญหาและความพึงพอใจต่อการเรียนรู้ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3

Main Article Content

โสภิดา ศรีโพธิ์ชัย

Abstract

            การวิจัยครั้งนี้ มีความมุ่งหมายเพื่อ 1) พัฒนาแผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลักร่วมกับหลักอริยสัจ 4  ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3  ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐานของค่าดัชนีประสิทธิผลและค่าสัมประสิทธิ์ความแปรผัน  2) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียนของนักเรียน ที่เรียนด้วยการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลักร่วมกับหลักอริยสัจ 4 ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 3) เปรียบเทียบความสามารถในการแก้ปัญหาระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียนของนักเรียนที่เรียนด้วยการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลักร่วมกับหลักอริยสัจ 4 ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 4) ศึกษาความพึงพอใจต่อการเรียนรู้ของนักเรียน  ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลักร่วมกับหลักอริยสัจ 4 ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 5) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ความสามารถในการแก้ปัญหาและความพึงพอใจต่อการเรียนรู้ของนักเรียนที่มีความถนัดทางการเรียนต่างกันหลังเรียนด้วยการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลักร่วมกับหลักอริยสัจ 4  ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3โรงเรียนโนนคำวิทยา ภาคเรียนที่ 1ปีการศึกษา 2555 จำนวน  32 คน ซึ่งได้มาจากการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1) แผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลักร่วมกับหลักอริยสัจ 4 2) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน  3) แบบทดสอบวัดความสามารถในการแก้ปัญหา  4) แบบสอบถามความพึงพอใจต่อการเรียนรู้ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานค่าดัชนีประสิทธิผล (Effectiveness Index : E.I.) ค่าสัมประสิทธิ์ความแปรผัน(Coefficient of Variation : C.V.) สถิติทดสอบค่าที t –test (Dependent Samples) การวิเคราะห์ความแปรปรวนพหุคูณทางเดียว (One – way MANOVA)  และการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One – way ANOVA)

                ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้

                 1. แผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลักร่วมกับหลักอริยสัจ 4 มีค่าดัชนีประสิทธิผล (Effectiveness Index : E.I.) เท่ากับ 0.73 และมีค่าสัมประสิทธิ์ความแปรผัน (Coefficient of Variation : C.V.) เท่ากับ 13.70 

                 2. นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนด้วยการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลักร่วมกับหลักอริยสัจ 4 สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

                 3. นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีความสามารถในการแก้ปัญหาหลังเรียนด้วยการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลักร่วมกับหลักอริยสัจ 4 สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

                 4. นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีความพึงพอใจต่อการเรียนรู้หลังเรียนด้วยการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลักร่วมกับหลักอริยสัจ 4 อยู่ในระดับมากที่สุด อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

                 5. นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่มีความถนัดทางการเรียนแตกต่างกัน หลังเรียนด้วยการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลักร่วมกับหลักอริยสัจ 4 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ความสามารถในการแก้ปัญหา และความพึงพอใจต่อการเรียนรู้ แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ.05 และผลจากการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One – way  ANOVA) พบว่า

                      5.1 นักเรียนที่มีความถนัดทางการเรียนแตกต่างกัน มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยนักเรียนที่มีความถนัดทางการเรียนสูงจะมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงกว่านักเรียนที่มีความถนัดทางการเรียนปานกลางและต่ำ

                      5.2 นักเรียนที่มีความถนัดทางการเรียนแตกต่างกัน มีความสามารถในการแก้ปัญหาหลังเรียนแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยนักเรียนที่มีความถนัดทางการเรียนสูงจะมีความสามารถในการแก้ปัญหาสูงกว่านักเรียนที่มีความถนัดทางการเรียน ปานกลางและต่ำ ส่วนนักเรียนที่มีความถนัดทางการเรียนปานกลางและต่ำมีความสามารถในการแก้ปัญหาไม่แตกต่างกัน

                      5.3 นักเรียนที่มีความถนัดทางการเรียนแตกต่างกัน มีความพึงพอใจต่อการเรียนรู้ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05        

Article Details

Section
บทความวิจัย