การพัฒนาชุดการเรียนคณิตศาสตร์ที่เน้นกระบวนการเรียนรู้แบบร่วมมือกลุ่มแข่งขันตอบปัญหา (TGT) เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
Main Article Content
Abstract
การพัฒนาชุดการเรียนคณิตศาสตร์ที่เน้นกระบวนการเรียนรู้แบบร่วมมือกลุ่มแข่งขันตอบปัญหา (TGT) เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีความมุ่งหมาย ดังนี้
1. เพื่อพัฒนาชุดการเรียน วิชาคณิตศาสตร์ที่เน้นกระบวนการเรียนรู้แบบร่วมมือกลุ่มแข่งขันตอบปัญหา (TGT) เรื่องพื้นที่ผิวและปริมาตร ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80
2. เพื่อศึกษาดัชนีประสิทธิผลของ ชุดการเรียน วิชาคณิตศาสตร์ที่เน้นกระบวนการเรียนรู้แบบร่วมมือกลุ่มแข่งขันตอบปัญหา (TGT) เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
3. เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน วิชาคณิตศาสตร์ เรื่องพื้นที่ผิวและปริมาตร ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ใช้ชุดการเรียนที่เน้นกระบวนการเรียนรู้แบบร่วมมือกลุ่มแข่งขันตอบปัญหา (TGT) กับนักเรียนที่เรียนโดยวิธีปกติ
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบกวิทยาคม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาศรีสะเกษ เขต 1 ปีการศึกษา 2552 จำนวน 2 ห้องเรียน มีนักเรียนทั้งหมด 64 คน ซึ่งได้มาโดยการสุ่มอย่างง่าย (Simple Random Sampling) โดยใช้ห้องเรียนเป็นหน่วยสุ่ม โดยแบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 32 คน และกลุ่มควบคุม 32 คน ใช้เวลาในการทดลอง 15 ชั่วโมง
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ชุดการเรียน วิชาคณิตศาสตร์ที่เน้นกระบวนการเรียนรู้แบบร่วมมือกลุ่มแข่งขันตอบปัญหา (TGT) เรื่องพื้นที่ผิวและปริมาตร ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 5 ชุดการเรียน และ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน วิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร ซึ่งเป็นแบบทดสอบ ชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ ซึ่งมีค่าความยากง่ายตั้งแต่ .25 ถึง .80 ค่าอำนาจจำแนกตั้งแต่ .27 ถึง .80 และค่าความเชื่อมั่นของแบบทดสอบทั้งฉบับเท่ากับ .85
สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและการทดสอบทีแบบกลุ่มตัวอย่างเป็นอิสระต่อกัน ผลการวิจัย พบว่า
1. ประสิทธิภาพของชุดการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ที่เน้นกระบวนการเรียนรู้แบบร่วมมือกลุ่มแข่งขันตอบปัญหา (TGT) เรื่องพื้นที่ผิวและปริมาตร ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีค่าเท่ากับ 86.51/89.17
2. ค่าดัชนีประสิทธิผลของ ชุดการเรียน วิชาคณิตศาสตร์ที่เน้นกระบวนการเรียนรู้แบบร่วมมือกลุ่มแข่งขันตอบปัญหา (TGT) เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีค่าเท่ากับ .8122 นั่นคือผู้เรียนมีความก้าวหน้าในการเรียน ร้อยละ 81.22 ของความก้าวหน้าสูงสุดที่เป็นไปได้
3. นักเรียนกลุ่มทดลอง ที่เรียนโดยใช้ชุดการเรียน วิชาคณิตศาสตร์ที่เน้นกระบวนการเรียนรู้แบบร่วมมือกลุ่มแข่งขันตอบปัญหา (TGT) เรื่องพื้นที่ผิวและปริมาตร ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีคะแนนผลสัมฤทธิ์สูงกว่านักเรียนกลุ่มควบคุมที่เรียนโดยวิธีปกติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
โดยสรุป ชุดการเรียน วิชาคณิตศาสตร์ที่เน้นกระบวนการเรียนรู้แบบร่วมมือกลุ่มแข่งขันตอบปัญหา (TGT) เรื่องพื้นที่ผิวและปริมาตร ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่พัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สามารถนำไปใช้ในการเรียนการสอนเพื่อให้ผู้เรียนบรรลุผลตามจุดประสงค์ได้
Article Details
บทความทุกบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ถือว่าเป็นลิขสิทธิ์ของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร