การพัฒนายุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้เชิงประสบการณ์เน้นการสืบเสาะเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการคิดเชิงเหตุผลและความสามารถในการแสวงหาความรู้ของเด็กปฐมวัย
Main Article Content
Abstract
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนายุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้เชิงประสบการณ์เน้นการสืบเสาะ 2) ศึกษาผลการใช้ยุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้เชิงประสบการณ์เน้นการสืบเสาะที่มีต่อการคิดเชิงเหตุผลและความสามารถในการแสวงหาความรู้ของเด็กปฐมวัย การดำเนินการวิจัยเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ศึกษาสภาพการจัดการเรียนรู้จากแนวคิด ทฤษฎี ที่เกี่ยวกับการคิดเชิงเหตุผลและความสามารถในการแสวงหาความรู้และการสัมภาษณ์กลุ่มผู้เชี่ยวชาญและผู้ปกครอง ระยะที่ 2 พัฒนายุทธศาสตร์สร้างและตรวจสอบคุณภาพโดยผู้เชี่ยวชาญ เครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ คู่มือยุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้เชิงประสบการณ์เน้นการสืบเสาะ แผนการจัดการการเรียนรู้เชิงประสบการณ์เน้นการสืบเสาะ และแผนการจัดการเรียนรู้แบบปกติตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2546 แบบทดสอบความสามารถในการคิดเชิงเหตุผล แบบสังเกตความสามารถในการแสวงหาความรู้ แบบวัดความพึงพอใจต่อการเรียนรู้ตามยุทธศาสตร์ ระยะที่ 3 ศึกษาผลการใช้ยุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้โดยนำยุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้เชิงประสบการณ์เน้นการสืบเสาะไปทดลองใช้ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้วิจัยเป็นเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 2 โรงเรียนอนุบาลอุดรธานี สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุดรธานี เขต 1ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2554 เป็นระยะเวลา 15 สัปดาห์ จำนวน 8 หน่วยการเรียนรู้ จำนวนเด็ก 66 คน ทำการจับฉลากเพื่อสุ่มกลุ่มตัวอย่าง เป็นกลุ่มทดลองจำนวน 33 คน ได้รับการจัดการการเรียนรู้ตามยุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้เชิงประสบการณ์เน้นการสืบเสาะ และกลุ่มควบคุม จำนวน 33 คนได้รับการจัดประสบการณ์แบบปกติตามแผนการจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2546
ผลการวิจัย สรุปได้ดังนี้
1. ผลการพัฒนายุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้เชิงประสบการณ์เน้นการสืบเสาะทำให้ได้รับยุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้ที่มีหลักการตามทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของเพียเจท์ (Piaget) และบรูเนอร์ (Bruner) ทฤษฎีวัฒนธรรมทางสังคมของไวก็อตสกี้ (Vygotsky) แนวคิดการเรียนรู้เชิงประสบการณ์ (Experiential Learning) และการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ (Inquiry Learning) ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ 3 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการจัดกระบวนการเรียนรู้ มีขั้นตอนการเรียนรู้ 4 ขั้น ได้แก่ ขั้นจุดประกายคิด ขั้นร่วมกันคิด ขั้นนำเสนอการคิด และขั้นประยุกต์แนวคิด 2) ด้านการจัดสภาพแวดล้อม ประกอบด้วย การจัดสภาพแวดล้อมภายในและภายนอกห้องเรียน 3) ด้านการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง ประกอบด้วย การมีส่วนร่วมของผู้ปกครองทั้งที่บ้านและโรงเรียน
2. ผลการใช้ยุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้ พบว่า 1) เด็กปฐมวัยกลุ่มทดลองที่ได้รับการจัดการเรียนรู้ตามยุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้เชิงประสบการณ์เน้นการสืบเสาะหลังการทดลองมีความสามารถในการคิดเชิงเหตุผลสูงกว่ากลุ่มควบคุมที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ .01 2) กลุ่มทดลองที่ได้รับการจัดการเรียนรู้ตามยุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้เชิงประสบการณ์เน้นการสืบเสาะหลังการทดลองมีความสามารถในการแสวงหาความรู้สูงกว่ากลุ่มควบคุมที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ .01 3) เด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดการการเรียนรู้ตามยุทธศาสตร์มีความพึงพอใจต่อการเรียนรู้ในระดับมาก
Article Details
บทความทุกบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ถือว่าเป็นลิขสิทธิ์ของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร