การพัฒนาครูด้านการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่น ศูนย์เครือข่าย การศึกษาที่ 19 อำเภอสว่างแดนดิน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสกลนคร เขต 2 โดยใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติการ

Main Article Content

ธิดารัตน์ ถาบุตร

Abstract

             งานวิจัยนี้มีความมุ่งหมายเพื่อพัฒนาครูศูนย์เครือข่ายการศึกษาที่ 19 อำเภอสว่างแดนดิน  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสกลนคร เขต 2 ด้านการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นโดยใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) ผู้ร่วมศึกษาในครั้งนี้ประกอบด้วยครูประจำการโรงเรียนหนองหลวงวิทยานุกูล จำนวน 10 คน กลุ่มผู้ให้ข้อมูลจำนวน 13 คน และผู้วิจัย เครื่องมือที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วยแบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์และแบบประเมินหลักสูตร การวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลใช้วิธีพรรณนาวิเคราะห์และสถิติค่าเฉลี่ยเลขคณิต

            ผลการวิจัยพบว่า 1) ก่อนการพัฒนาครูประจำการโรงเรียนหนองหลวงวิทยานุกูล  ขาดความรู้  ความเข้าใจและขาดความมั่นใจในการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่น จึงร่วมกันออกแบบกิจกรรมพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น  เป็นเกลียววงรอบกิจกรรม  (Interacting spiral) คือรอบที่ 1 เป็นกิจกรรมพัฒนาโดยการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นและวงรอบที่ 2 นำผลการสะท้อนจากวงรอบที่1 มาจัดกิจกรรมเพื่อวางแผนและกำหนดทิศทางพัฒนากิจกรรม 2) หลังจบกิจกรรมวงรอบที่ 1 แล้วพบว่า ครูผู้สอนมีความรู้  ความเข้าใจ สามารถจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นได้ อยู่ในระดับปานกลางคิดเป็นคะแนนเฉลี่ย 2.37 (จากคะแนนเต็ม  5.00) เนื้อหาที่ต้องพัฒนาเพิ่มเติม คือ  การกำหนดโครงสร้างหลักสูตรการกำหนดเนื้อหาหลักสูตรและการจัดทำคำอธิบายรายวิชา จึงกำหนด ทิศทางการพัฒนาในวงรอบที่ 2 เป็นกิจกรรมการระดมสมอง การมอบหมายงาน  ที่กลุ่มเป้าหมายจัดทำขึ้น และกิจกรรมประเมินเอกสารหลักสูตร จัดทำหลักสูตรท้องถิ่นอีกครั้ง  เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของครูในการจัดทำหลักสูตร 3) หลังจบกิจกรรมวงรอบที่ 2 พบว่า ครูผู้สอนสามารถจัดทำหลักสูตรท้องถิ่น เรื่อง การทำนาได้ และผลการประเมินหลักสูตรจากผู้เชี่ยวชาญได้คะแนนเฉลี่ย  3.13 (จากคะแนนเต็ม 5.00)

จากการวิจัยครั้งนี้ส่งผลให้คณะครูมีความมั่นใจ พร้อมที่จะนำความรู้  ทักษะประสบการณ์ ความสามารถที่ได้ไปจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นในสถานศึกษาอันจะเกิดผลดีต่อครู นักเรียน  สถานศึกษา ท้องถิ่นและการศึกษาของชาติต่อไป

Article Details

Section
บทความวิจัย