ยุทธศาสตร์การบริหารโรงเรียนเป็นฐานในโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดเล็ก สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

Main Article Content

สุดาลักษณ์ บุปผาดา

Abstract

บทคัดย่อ

 

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษายุทธศาสตร์การบริหารโรงเรียนเป็นฐานในโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดเล็ก สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมีการดำเนินการวิจัยเป็น 3 ขั้นตอน คือ 1) ศึกษาสภาพ ปัญหาและแนวทางการพัฒนาการบริหารโรงเรียนเป็นฐานในโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดเล็ก สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 27 โรงเรียน โดยมีผู้บริหารเป็นผู้ให้ข้อมูลสำคัญรวม 27 คน 2) สร้างยุทธศาสตร์การบริหารโรงเรียนเป็นฐานในโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดเล็ก สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยร่างยุทธศาสตร์ตามข้อมูลที่ได้ในขั้นตอนที่ 1 และดำเนินการปรับปรุงร่างยุทธศาสตร์  โดยการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิมาประชุมสัมมนา  จำนวน 21 คน เพื่อวิพากย์และให้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงร่างยุทธศาสตร์ 3) ประเมินยุทธศาสตร์การบริหารโรงเรียนเป็นฐานในโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดเล็ก สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  โดยนำเสนอยุทธศาสตร์ฉบับปรับปรุงต่อผู้ทรงคุณวุฒิ  โดยการจัดประชุมสัมมนาอิงผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 30 คน  เพื่อประเมินความเหมาะสม ความเป็นไปได้และความเป็นประโยชน์ของยุทธศาสตร์  เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แบบสอบถามเพื่อการวิจัย แบบประเมินความสอดคล้องเชิงเนื้อหาของแบบสอบถามเพื่อการวิจัยและแบบประเมินความเหมาะสม ความเป็นไปได้ และความเป็นประโยชน์  วิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และวิธีการวิเคราะห์เนื้อหา

ผลการวิจัยพบว่า

1. สภาพการบริหารโรงเรียนเป็นฐานในโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดเล็ก สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ด้านการกระจายอำนาจ ด้านการบริหารจัดการตนเอง ด้านการสร้างเครือข่าย และด้านความรับผิดชอบ โดยภาพรวมมีระดับการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก โดยรวมเน้นการมีอำนาจตัดสินใจในการนำหลักสูตรไปใช้อย่างมีแบบแผน มีขั้นตอนในการดำเนินงานชัดเจน มีอิสระในการสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนของตนเองเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา  สามารถบริหารจัดการโรงเรียนโดยมุ่งเน้นประโยชน์ของผู้เรียนเป็นสำคัญ  มีการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง จัดให้บุคลากรทุกฝ่ายร่วมกันรับผิดชอบการดำเนินงานของโรงเรียน มีระบบประกันคุณภาพภายในที่พร้อมรับการประเมินภายนอก ปัญหาส่วนใหญ่ พบว่า ผู้บริหารยังไม่กระจายอำนาจการตัดสินใจไปยังครูทุกระดับในโรงเรียน การขาดแคลนงบประมาณ ครูและบุคลากรมีจำนวนน้อยและมีภาระงานมาก  ครูย้ายบ่อยทำให้งานที่มอบหมายและรับผิดชอบไม่ต่อเนื่อง  และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานร่วมรับผิดชอบต่อการจัดการศึกษาน้อย  โดยมีแนวทางพัฒนาดังนี้  สร้างภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงและมอบอำนาจการตัดสินใจให้กับครู

ทุกระดับในโรงเรียน  การระดมทรัพยากร การสร้างความตระหนักด้านความรับผิดชอบให้กับครูและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน การสร้างแรงจูงใจในการทำงาน รวมทั้งการสร้างเครือข่ายการศึกษา เช่น โรงเรียนคู่พัฒนา และปราชญ์ชาวบ้าน

2. ผลการสร้างยุทธศาสตร์การบริหารโรงเรียนเป็นฐานในโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดเล็ก มี 4 ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์ด้านการกระจายอำนาจ ยุทธศาสตร์ด้านการบริหารจัดการตนเอง ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างเครือข่าย และยุทธศาสตร์ด้านความรับผิดชอบ ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้  ยุทธศาสตร์ด้านการกระจายอำนาจ มี 10 มาตรการ โดยเน้นมาตรการ ออกแบบโครงสร้างการบริหารงานที่มีความคล่องตัว ไม่ซับซ้อน  ผู้บริหารสถานศึกษามีภาวะผู้นำและเป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง และการมอบอำนาจการตัดสินใจเป็นลำดับชั้น  ยุทธศาสตร์ด้านการบริหารจัดการตนเอง มี 10 มาตรการ โดยเน้นมาตรการ  พัฒนาบุคลากรให้มีความเป็นมืออาชีพ มีระบบสารสนเทศชัดเจนเป็นปัจจุบัน และมีหลักสูตรที่หลากหลายตามความต้องการของผู้เรียน  ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างเครือข่าย มี 13 มาตรการ โดยเน้นมาตรการ การสำรวจสภาพความต้องการในการจัดการศึกษา  สร้างความตระหนักด้านการศึกษาให้กับผู้ปกครอง และประสานความร่วมมือกับองค์กรทางการศึกษาที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ เพื่อจัดการศึกษาที่ทันสมัย และยุทธศาสตร์ด้านความรับผิดชอบ มี 10 มาตรการ โดยเน้นมาตรการ การพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน การจัดระบบการทำงานที่ชัดเจนสามารถตรวจสอบได้เพื่อสร้างความศรัทธาให้กับชุมชน และการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมในสถานศึกษา โดยจัดกิจกรรมให้ครูและบุคลากรได้ปฏิบัติร่วมกัน และคู่มือการใช้ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย บทนำ องค์ประกอบของยุทธศาสตร์ แนวทางการนำยุทธศาสตร์ไปใช้ และบทสรุป

3. ผลการประเมินความเหมาะสม ความเป็นไปได้ และความเป็นประโยชน์ของยุทธศาสตร์การบริหารโรงเรียนเป็นฐานในโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดเล็ก สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่า ยุทธศาสตร์ทั้ง 4 ด้าน มีความเหมาะสมและความเป็นประโยชน์อยู่ในระดับมากที่สุด  ส่วนด้านความเป็นไปได้     อยู่ในระดับมาก

คำสำคัญ  :  ยุทธศาสตร์การบริหารโรงเรียนเป็นฐาน, โรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดเล็ก, สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

Article Details

Section
บทความวิจัย