กลุ่มชาติพันธุ์ไทโส้ในแอ่งสกลนคร

Main Article Content

ธวัชชัย ไพใหล

Abstract

การวิจัยครั้งนี้มีปัญหาการวิจัยดังนี้1)กลุ่มชาติพันธุ์ไทโส้ในแอ่งสกลนคร มีประวัติความเป็นมาอย่างไร   2) ลักษณะของศิลปวัฒนธรรม  ขนบธรรมเนียมประเพณี  ภาษา คติความเชื่อ และวิถีชีวิตของชาติพันธุ์ไทโส้ในแอ่งสกลนครเป็นอย่างไร  โดยมีวัตถุประสงค์ของการวิจัยดังนี้ 1) เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมาของกลุ่มชาติพันธุ์ไทโส้ในแอ่งสกลนคร 2)เพื่อศึกษาลักษณะศิลปวัฒนธรรม  ขนบธรรมเนียมประเพณี ภาษา คติความเชื่อและวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ไทโส้ในแอ่งสกลนคร    เป็นการวิจัยเชิงประวัติศาสตร์ (Historical  Research) มีวิธีดำเนินการวิจัย  5 ขั้นตอนคือ 1) ที่มาของปัญหา   2) ขั้นรวบรวมและคัดเลือกหลักฐาน 3) ขั้นวิเคราะห์และตีความหลักฐาน   4) ขั้นสังเคราะห์   5) ขั้นเสนอข้อเท็จจริง วิธีการศึกษาใช้วิธีการวิเคราะห์เอกสาร ทั้งเอกสารชั้นต้นและเอกสารชั้นรอง ประกอบกับการศึกษาภาคสนาม ด้วยวิธีการสัมภาษณ์ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้รู้ ปราชญ์ชาวบ้าน และประชาชนทั่วไปในหมู่บ้านชาวไทโส้ในอำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร และจังหวัดนครพนม   จังหวัดมุกดาหาร  ที่มีชาวไทโส้อาศัยอยู่  ผลการศึกษาพบว่า1.ประวัติความเป็นมาของกลุ่มชาติพันธุ์ไทโส้ในแอ่งสกลนคร ผลการวิจัยพบว่า 1.1. ถิ่นดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์ไทโส้ก่อนอพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งในแอ่งสกลนคร พบว่า มีถิ่นฐานดั้งเดิมกระจัดกระจายอยู่หลายเมืองของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้แก่เมืองอู เมืองวัง และเมืองมหาชัยกองแก้วหรือภูวานากะแด้ง และในบริเวณภาคกลางของประเทศ ได้แก่ เมืองพิณ เมืองนอง เมืองอ่างคำ เมืองพะลาน เมืองตะโปน เมืองน้ำ เมืองบก เมืองสูง เมืองคำเกิด คำม่วน และสะหวันนะเขตเป็นต้น 1.2  มูลเหตุของการอพยพเข้ามาบริเวณแอ่งสกลนคร พบว่าไทโส้ได้อพยพจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงข้ามมายังฝั่งขวาแม่น้ำโขง และมาตั้งถิ่นฐานในบริเวณแอ่งสกลนครในจังหวัดสกลนคร นครพนมและ มุกดาหาร โดยมีมูลเหตุของการอพยพ ดังนี้ 1.2.1 นโยบายของราชสำนักกรุงเทพฯในการกวาดต้อนผู้คนจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 (พ.ศ. 2371)  สาเหตุของการกวาดต้อนผู้คนจากเมืองมหาชัยกองแก้วและเมืองใกล้เคียงเข้ามายังดินแดนไทยในปี พ.ศ. 2371 สืบเนื่องมาจากรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้กองทัพไทยยกกองทัพมาปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์  แห่งอาณาจักรเวียงจันทน์   เจ้าอนุวงศ์หลบหนีมาอยู่ที่เมืองมหาชัยกองแก้ว เมื่อกองทัพไทยยกกองทัพมาตีเมืองมหาชัยกองแก้วเจ้าอนุวงศ์และเจ้าจุลนีพร้อมด้วยญาติพี่น้องจำนวนหนึ่งก็พากันหลบหนีไปทางเมืองเซ เมืองกะปอมและไปอาศัยอยู่ในเขตแดนของประเทศเวียดนาม และได้ขอกำลังจากเวียดนามเข้าช่วยแย่งชิงเมืองมหาชัยกองแก้วจากกองทัพไทยคืนและภายหลังไทยก็ยกกองทัพไปยึดเมืองมหาชัยกองแก้วคืนจากเวียดนามได้อีกครั้ง       จากพฤติกรรมของเจ้าจุลนีแห่งเมืองมหาชัยกองแก้วที่ฝักใฝ่ต่อเวียดนามจึงส่งผลให้ไทยดำเนินนโยบายกวาดต้อนราษฎรในเมืองมหาชัยกองแก้วซึ่งมีจำนวนมาก ทั้งที่เป็นราษฎรลาว  กะเลิง  ข่า เข้ามาไว้ในดินแดนไทยด้วย  1.2.2 นโยบายการกวาดต้อนครัวเรือนราษฎรฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงในระหว่างพ.ศ. 2376-2388เนื่องจากเกิดเหตุการณ์ทางการเมืองระหว่างไทยกับเวียดนามกรณีการเปิดศึกแย่งชิงอิทธิพลในเขมร ไทยจึงมีนโยบายกวาดต้อนราษฎรหรือผู้คนจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงเข้ามาไว้ยังดินแดนไทยเพราะไม่ต้องการที่จะให้ผู้คนเหล่านี้ไปเป็นกองกำลังของเวียดนามในการทำสงครามกับไทย  โดยใช้วิธียกกองทัพไปตีและทำการกวาดต้อนผู้คนครอบครัวจากเมืองมหาชัย  เมืองพวน  เมืองเชียงขวาง  เมืองชุมพร  เมืองพวง  เมืองพะลาน  เมืองเชียงคำ  เมืองเชียงแมน  เมืองกาย  เมืองเชียงดี  เมืองคำเกิด  เมืองคำม่วน  เมืองพร้าว  เมืองหาว  และเมืองวังรวม 15 เมืองซึ่งหัวเมืองเหล่านี้มีผู้คนหลายชาติพันธุ์อาศัยอยู่มีทั้งผู้ไทย กะเลิง โซ่ ญ้อ ข่า ไทลาวฯลฯมาไว้ที่เมืองนครราชสีมาและเมืองใกล้เคียงในบริเวณแอ่งสกลนคร  1.2.3นโยบายการเกลี้ยกล่อมครัวจากหัวเมืองฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงพบว่าไทยใช้วิธีการละมุนละม่อมด้วยการเกลี้ยกล่อมให้ครัวราษฎรจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้อพยพข้ามมายังฝั่งไทยด้วยความสมัครใจไม่มีการบีบบังคับซึ่งเป็นนโยบายที่ได้ผลดีโดยพบว่าผู้นำครัวเรือนในหัวเมืองฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ทำการชักชวนและรวบรวมราษฎรในหัวเมืองต่างๆจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงที่สมัครใจเดินทางอพยพข้ามฝั่งแม่น้ำโขงมายังดินแดนประเทศไทยเป็นจำนวนมาก


           1.3.ไทโส้ยุคก่อตั้งเมืองในแอ่งสกลนคร พบว่ามีกลุ่มไทโส้ตั้งถิ่นฐานในจังหวัดสกลนคร นครพนมและมุกดาหารดังนี้


                  1.3.1 กลุ่มไทโส้ในจังหวัดสกลนคร พบว่าอพยพมาจากเมืองวัง  เมืองพิน  เมืองนอง  เมืองตะโปน และเมืองอูซึ่งอยู่ในเขตปกครองของแขวงพงสาลี ประกอบด้วยเมืองอู เมืองอูเหนือ เมืองอูใต้ เข้ามาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนในท้องที่อำเภอกุสุมาลย์  และอำเภอพรรณนานิคม การอพยพเข้ามา มีสาเหตุมาจากนโยบายการกวาดต้อนผู้คนจากเมืองมหาชัยกองแก้วและเมืองใกล้เคียงเข้ามายังดินแดนไทยในสมัยรัชกาลที่ 3 นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2371 เป็นต้นมา ปัจจุบันพบว่าในเมืองอูยังมีชาวโส้ที่ไม่ได้อพยพมาไทยอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากและยังมีความสัมพันธ์กับไทโส้ในจังหวัดสกลนคร


                  1.3.2 กลุ่มไทโส้ในจังหวัดนครพนม   พบว่าเป็นพวกไทโส้ที่อพยพเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 3  ของกรุงรัตนโกสินทร์ ในระหว่างช่วง พ.ศ. 2385-2387  ซึ่งเป็นการกวาดต้อนเอาชาวโส้จากเมืองตะโปน และเมืองเชียงฮ่ม (ปัจจุบันอยู่ในแขวงสุวรรณเขต ของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว)  เข้ามาและให้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเมืองรามราช  ให้ขึ้นตรงต่อเมืองนครพนม  (ปัจจุบันเมืองรามราชก็คือ ตำบลรามราช อยู่ในเขตอำเภอท่าอุเทน  จังหวัดนครพนม)  ในปัจจุบันจะตั้งถิ่นฐานอยู่ในอำเภอท่าอุเทน  อำเภอเมือง  อำเภอศรีสงคราม  อำเภอบ้านแพง  อำเภอโพนสวรรค์  และบางส่วนของอำเภอนาแก


        1.3.3 กลุ่มไทโส้ในจังหวัดมุกดาหาร มักนิยมเรียกว่าไทโซ่  พบว่าอพยพมาจากเมืองมหาชัยกองแก้วในแขวงคำม่วน และแขวงสุวรรณเขต           มีเมืองวัง-อ่างคำ  เมืองตะโปน หรือเซโปน  ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  อพยพข้ามแม่น้ำโขงที่บริเวณแก่งกะเบาซึ่งห่างจากอำเภอหว้านใหญ่  จังหวัดมุกดาหารในปัจจุบัน   พากันกระจายไปตั้งบ้านเรือนอยู่ทั่วไปในเขตอำเภอดงหลวง  อำเภอนิคมคำสร้อย  อำเภอคำชะอี  อำเภอดอนตาล และอำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร อพยพเข้ามาโดยความสมัครใจไม่ได้ถูกบังคับหรือกวาดต้อน  เข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 2  ปีพ.ศ. 2359  มูลเหตุการอพยพอ้างว่ามาตามคำสั่งของแถนที่เชื่อว่าหากย้ายหนีจากเมืองตะโปนซึ่งเป็นถิ่นดั้งเดิมในขณะนั้นกำลังจะเกิดกลียุคหากย้ายไปอยู่ยังดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งอยู่ในบริเวณเทือกเขาภูพานแล้วจะเจริญรุ่งเรืองในระยะแรกมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านเหล่า  ตำบลหนองบัว  อำเภอดงหลวง ในปัจจุบัน และพากันอพยพเข้ามาเรื่อยๆ  จึงขยายที่ทำกินทำให้กระจัดกระจายอาศัยอยู่ตามตำบลหนองแดง  ตำบลพังแดง  ตำบลกกตูม อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร เป็นต้น


  1. ด้านศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี คติความเชื่อและวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ไทโส้ในแอ่งสกลนคร ผลการวิจัยพบว่า

            2.1 ด้านศิลปวัฒนธรรมพบว่าชาวไทโส้ มีวัฒนธรรมที่โดดเด่นมีเอกลักษณ์ และอัตลักษณ์เฉพาะของตนเอง เช่น การละเล่นพื้นบ้าน การเล่นโส้ทั้งบั้ง การเล่นรำลายกลอง การแต่งกายและมีภาษาพูดของตนเอง


            2.2 ด้านขนบธรรมเนียมประเพณี พบว่าชาวไทโส้มีขนบธรรมเนียมประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตและเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทโส้ให้เกิดความรัก ความผูกผันและสามัคคีกัน เช่น พิธีกรรมการเหยา เลี้ยงผีประจำปี  เหยาเลี้ยงผีมูล  เหยาเลี้ยงผีน้ำ  พิธีกรรมการเหยาเรียกขวัญ เหยารักษาคนป่วย เหยาแก้บน ส่วนในด้านประเพณี ได้แก่ ประเพณีเกี่ยวกับการเกิด การแต่งงาน การตาย และประเพณีอื่นๆ


           2.3 ด้านความเชื่อ พบว่าชาวไทโส้ จะให้ความสำคัญเกี่ยวกับธรรมชาติ  สิ่งเหนือธรรมชาติ   มีความเชื่อเกี่ยวกับวิญญาณ ภูตปีศาจ ไสยศาสตร์ เวทมนต์คาถา และมีความศรัทธาในการทำบุญควบคู่กับการนับถือผีประเภทต่างๆและศรัทธาในการประกอบพิธีกรรมจนกลายมาเป็นแบบอย่างของการดำเนินชีวิตในปัจจุบันของไทโส้ในแอ่งสกลนคร

Article Details

Section
บทความวิจัย