การวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน เรื่อง การวิเคราะห์ข้อมูลและความน่าจะเป็น โดยใช้รูปแบบการสอนตามแนวคิดแบบคอนสตรัคติวิสต์ ร่วมกับกระบวนการสอนการแก้ปัญหา สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น

Main Article Content

วิศวัฒน์ ลี้มงคล
สมคิด อินเทพ
จุฑาพร เนียมวงษ์

Abstract

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนารูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์ โดยใช้รูปแบบการสอนตามแนวคิดแบบคอนสตรัคติวิสต์ ร่วมกับกระบวนการสอนการแก้ปัญหา  สาระการวิเคราะห์ข้อมูลและความน่าจะเป็น สำหรับนักเรียนระดับมัธยมตอนต้น 2) ศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ 3) ศึกษาความสามารถในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ และ 4) ศึกษาเจตคติต่อการเรียนคณิตศาสตร์  งานวิจัยนี้ใช้รูปแบบการวิจัยเชิงปฏิบัติการในชั้นเรียน (Action Research) มีทั้งหมด 3 วงจรได้แก่ 1) ความรู้พื้นฐานสำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลและความน่าจะเป็น 2) ความน่าจะเป็น และ 3) การวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งแต่ละวงจรประกอบด้วย 4 ขั้นตอนคือ 1) การวางแผน (plan) 2) การปฏิบัติตามแผน (act) 3) การสังเกต (observe) และ 4) การสะท้อนผล (reflect) โดยกลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่สมัครใจเรียนในคาบชุมนุม ปีการศึกษา 2561 โรงเรียนชลบุรี “สุขบท” อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี จำนวน 33 คน เก็บข้อมูลโดยใช้ แผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบการสอนตามแนวคิดแบบคอนสตรัคติวิสต์ ร่วมกับกระบวนการสอนการแก้ปัญหา จำนวน 9 แผน แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทาง
การเรียน แบบทดสอบวัดความสามารถในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ และแบบวัดเจตคติต่อการเรียนคณิตศาสตร์ 


ผลการวิจัย พบว่า รูปแบบการสอนตามแนวคิดแบบคอนสตรัคติวิสต์ ร่วมกับกระบวนการสอนการแก้ปัญหา สาระการวิเคราะห์ข้อมูลและความน่าจะเป็น มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ (E1/E2) 70/70 ในวงจรที่ 1 มีค่าเป็น 70.51/69.70 ในขณะที่วงจรที่ 2 และ 3 มีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์โดยมีค่าเป็น 83.60/79.29 และ 80.88/81.57 ตามลำดับ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนมีค่าดัชนีประสิทธิผลรายกลุ่มเท่ากับ 0.69 ซึ่งมากกว่าเกณฑ์ 0.5 ความสามารถในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนมีค่าดัชนีประสิทธิผลรายกลุ่มของวงจรที่ 1 - 3 เท่ากับ 0.69, 0.76 และ 0.79 ตามลำดับซึ่งมากกว่าเกณฑ์ 0.5 เจตคติต่อการเรียนคณิตศาสตร์ของนักเรียน พบว่า คะแนนเฉลี่ยในวงจรที่ 1 - 3 คือ 2.77, 3.01 และ 3.16 คะแนน ตามลำดับซึ่งสูงกว่า 2.50 คะแนน และอยู่ในระดับค่อนข้างมาก

Article Details

Section
บทความวิจัย