การพัฒนายุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้ตามแนวคิดการเรียนรู้แบบสัญญาผูกพันและการออกแบบย้อนกลับ เพื่อส่งเสริมสมรรถภาพการสอนของครูวิทยาศาสตร์ระดับประถมศึกษา

Main Article Content

ละดา ดอนหงษา

Abstract

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1)  พัฒนายุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้ ตามแนวคิดการเรียนรู้แบบสัญญาผูกพันและการออกแบบย้อนกลับเพื่อส่งเสริมสมรรถภาพการสอนของครูวิทยาศาสตร์ระดับประถมศึกษา 2)  ศึกษาผลการใช้ยุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้ตามแนวคิดการเรียนรู้แบบสัญญาผูกพัน และการออกแบบย้อนกลับเพื่อส่งเสริมสมรรถภาพการสอนของครูวิทยาศาสตร์ระดับประถมศึกษา  ดังนี้ 2.1)  ศึกษาและเปรียบเทียบสมรรถภาพการสอนของครูวิทยาศาสตร์ระดับประถมศึกษาด้านความรู้ ระหว่างก่อนและหลังการอบรมปฏิบัติการ 2.2) ศึกษาสมรรถภาพการสอนของครูวิทยาศาสตร์ระดับประถมศึกษา  ด้านการปฏิบัติ ในระยะนิเทศติดตามผล และระยะประเมินผล โดยศึกษาความสามารถในการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ และพฤติกรรมการจัดการเรียนรู้ของครูวิทยาศาสตร์  2.3)  ศึกษาพฤติกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ของ นักเรียนระดับประถมศึกษา 3)  ศึกษาความพึงพอใจของครูวิทยาศาสตร์ระดับประถมศึกษาต่อยุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้ตามแนวคิดการเรียนรู้แบบสัญญาผูกพันและการออกแบบย้อนกลับ

วิธีดำเนินการวิจัยแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การศึกษาข้อมูลพื้นฐาน กลุ่มตัวอย่างเป็นครูวิทยาศาสตร์ระดับประถมศึกษา 214 คน ระยะที่ 2 การพัฒนายุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้ ระยะที่ 3 การศึกษาผลการใช้ยุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้ ประกอบด้วย 1) ศึกษาสมรรถภาพการสอนด้านความรู้ของครูวิทยาศาสตร์ระดับประถมศึกษา 20 คนหลังการอบรมปฏิบัติการ 2) ศึกษาสมรรถภาพการสอนในการเขียนแผนและพฤติกรรมการจัดการเรียนรู้ของครูวิทยาศาสตร์ 19 คนและพฤติกรรมการเรียนของนักเรียน 395 คนในระยะนิเทศติดตามผล  3) ศึกษาสมรรถภาพการสอนในการเขียนแผนและพฤติกรรมการจัดการเรียนรู้ของครูวิทยาศาสตร์ 5 คนและพฤติกรรมการเรียนของนักเรียน 119 คนในระยะประเมินผล เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) 

แบบสอบถามปัญหาและความต้องการพัฒนาสมรรถภาพการสอนของครูวิทยาศาสตร์ 2) คู่มือยุทธศาสตร์ 3) แผนการจัดการอบรม 4) แบบ ทดสอบสมรรถภาพการสอนด้านความรู้ 5) แบบประเมินแผนการจัดการเรียนรู้ 6) แบบสังเกตพฤติกรรมการจัดการเรียนรู้ของครู 7) แบบสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ของนักเรียน 8) เครื่องบันทึกวีดิทัศน์ 9) แบบสอบถามความพึงพอใจ 10) แบบสัมภาษณ์ครูและผู้บริหารโรงเรียน  การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ โดยหาค่าเฉลี่ย ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน ร้อยละ การทดสอบค่า t  การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ ใช้วิธีวิเคราะห์เนื้อหาและสรุปผลเชิงพรรณนา

ผลการวิจัย พบว่า 1) ยุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้ ประกอบด้วย วัตถุประสงค์ แนวคิดและทฤษฏี หลักการ กระบวนการของยุทธศาสตร์และการประเมินผล  ยุทธศาสตร์มีความเหมาะสมในระดับมากที่สุด 2) ผลการใช้ยุทธศาสตร์ พบว่า 2.1) สมรรถภาพการสอนของครูวิทยาศาสตร์ด้านความรู้หลังการอบรมปฏิบัติการเท่ากับร้อยละ 80.80 สูงกว่าก่อนการอบรมปฏิบัติการอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01  2.2)  แผนการจัดการเรียนรู้และพฤติกรรมการจัดการเรียนรู้ของครูวิทยาศาสตร์ มีคุณภาพระดับดีมากทั้งระยะนิเทศติดตามผลครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2  มีคุณภาพระดับดีเยี่ยมในระยะประเมินผล  หลังการนิเทศติดตามผลครูทุกคนเขียนแผนการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ได้สอดคล้องกับธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ จัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแผนที่สร้างขึ้น โดยเน้นผู้เรียนเป็นผู้สืบเสาะหาความรู้ ใช้วิธีวัดและประเมินผลตามสภาพจริงเพิ่มมากขึ้น 2.3) พฤติกรรมการเรียนรู้ของนักเรียน มีคุณภาพระดับดีในระยะนิเทศติดตามผลครั้งที่ 1 ระดับดีมากในระยะนิเทศติดตามผลครั้งที่ 2 และระดับดีเยี่ยมในระยะประเมินผล โดยนักเรียนเรียนรู้เป็นกลุ่มอย่างเป็นระบบ ปฏิบัติกิจกรรมที่หลากหลาย ฝึกทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์  กระตือรือร้นและตื่นเต้นที่ได้ใช้อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ สามารถวางแผนและออกแบบการทดลองได้มากขึ้น 3) ครูวิทยาศาสตร์มีความพึงพอใจต่อยุทธศาสตร์การจัดการการเรียนรู้ในระดับมากที่สุด

Article Details

Section
บทความวิจัย