การเปรียบเทียบผลการเรียนประเด็นปัญหาทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับการใช้วิทยาศาสตร์ โดยใช้รูปแบบการเรียนผสมผสานกับการเรียนปกติที่มีต่อความสามารถในการโต้แย้ง และการคิดเชิงวิพากษ์วิจารณ์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่มีเพศต่างกัน

Main Article Content

พรพรรณ พลเยี่ยม

Abstract

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาความสามารถในการโต้แย้งและการคิดเชิงวิพากษ์ วิจารณ์หลังเรียนประเด็นปัญหาทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับการใช้วิทยาศาสตร์ ของนักเรียนโดยส่วนรวม และจำแนกตามเพศ และรูปแบบการเรียนและ 2) เปรียบเทียบความสามารถในการโต้แย้งและการคิดเชิงวิพากษ์วิจารณ์หลังเรียนประเด็นปัญหาทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับการใช้วิทยาศาสตร์ของนักเรียนที่มีเพศต่างกัน และเรียนด้วยรูปแบบการเรียนต่างกัน กลุ่มตัวอย่างนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จำนวน   63 คน  ได้มาจากการเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ 1) แผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้ประเด็นปัญหาสังคมที่เกี่ยวข้องกับการใช้วิทยาศาสตร์ 3  เรื่อง ได้แก่  การปลูกถ่ายอวัยวะ การโคลนนิ่ง และการทำแท้ง โดยใช้รูปแบบการเรียนผสมผสานและรูปแบบการเรียนปกติ อย่างละ 3 แผนๆ ละ 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์  2) แบบประเมินความสามารถในการโต้แย้ง จำนวน 4 ฉบับ ๆ ละ 4 ข้อ  3) แบบทดสอบวัดการคิดวิพากษ์วิจารณ์  5 ด้าน  คือ ด้านการอนุมาน  ด้านการยอมรับข้อตกลงเบื้องต้น  ด้านการนิรนัย  ด้านการตีความ  และด้านการประเมินข้อโต้แย้ง  จำนวน 54 ข้อ สถิติที่ใช้ทดสอบสมมุติฐาน  ได้แก่ Dependent  t-test และ F-test  (Two-way MANCOVA และ Two-way ANCOVA)

ผลการวิจัยปรากฏดังนี้

  1. นักเรียนโดยส่วนรวม นักเรียนชายและนักเรียนหญิง หลังเรียนประเด็นปัญหาทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับการใช้วิทยาศาสตร์โดยใช้รูปแบบผสมผสาน  มีการพัฒนาความสามารถในการโต้แย้งเพิ่มขึ้นจากการสอบครั้งที่ 1-4 เพิ่ม­­ขึ้นตามลำดับ  และมีการคิดวิจารณ์หลังเรียนโดยรวมและเป็นรายด้านทั้ง  5  ด้าน เพิ่มขึ้นจากก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
  2. นักเรียนชายและนักเรียนหญิงหลังเรียนประเด็นปัญหาทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับการใช้วิทยาศาสตร์มีการคิดเชิงวิพากษ์วิจารณ์เป็นรายด้านทั้ง 5  ด้านไม่แตกต่างกัน
  3. นักเรียนที่เรียนประเด็นปัญหาทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับการใช้วิทยาศาสตร์   โดยใช้รูปแบบผสมผสานมีการคิดเชิงวิพากษ์วิจารณ์เป็นรายด้านทั้ง  5 ด้านมากกว่านักเรียนที่เรียนโดยใช้รูปแบบปกติ  อย่างมีนัยสําคัญทางสถิติที่ระดับ .05
  4. มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างเพศกับรูปแบบการเรียนประเด็นปัญหาทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับการใช้วิทยาศาสตร์ต่อความสามารถในการโต้แย้งและการคิดเชิงวิพากษ์วิจารณ์โดยรวมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .025

Article Details

Section
บทความวิจัย