การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาการจัดสภาพแวดล้อมและบรรยากาศในกองการศึกษา สำนักงานเทศบาลเมืองมุกดาหาร

Main Article Content

สมฤดี รัตนอัครวินท์

Abstract

การวิจัยครั้งนี้ใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม  (Participatory  Action  Research : PAR) โดยมีความมุ่งหมาย  1)  เพื่อศึกษาสภาพและปัญหาการจัดการสภาพแวดล้อมและบรรยากาศ 2) เพื่อหาแนวทางการพัฒนาจัดการสภาพแวดล้อมและบรรยากาศ 3) เพื่อติดตามและประเมินผลการดำเนินการพัฒนาจัดสภาพแวดล้อมและบรรยากาศ กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัย คือผู้วิจัยและผู้ร่วมวิจัย  ได้แก่ พนักงานเทศบาล สังกัดกองการศึกษา  จำนวน  10  คน และผู้ให้ข้อมูลสำคัญ  ได้แก่  ตัวแทนผู้บริหารเทศบาล  ผู้อำนวยการกองการศึกษา  ผู้ใช้บริการ  ตัวแทนพนักงานเทศบาล  เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่  แบบสอบถาม  แบบสัมภาษณ์  และแบบสังเกตพฤติกรรม  และแบบประเมินความพึงพอใจ  การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ  ใช้สถิติค่าเฉลี่ย  ร้อยละ  และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานการตรวจสอบข้อมูลเชิงคุณภาพ  ผู้วิจัยได้วิเคราะห์เนื้อหา (Content  analysis) จัดหมวดหมู่ของเนื้อหาและนำเสนอโดยความเรียง  นำเสนอผลการศึกษาค้นคว้าเชิงพรรณนาวิเคราะห์

ผลการวิจัยพบว่า

1. สภาพและปัญหาการพัฒนาจัดสภาพแวดล้อมและบรรยากาศ ในกองการศึกษา  สำนักงานเทศบาลเมืองมุกดาหาร   มีดังนี้  ความรับผิดชอบในการบริหารจัดสภาพแวดล้อมและบรรยากาศ ในกองการศึกษา เป็นของผู้บริหารเทศบาลและพนักงานที่เป็นข้าราชการ  ไม่มีการประชุมชี้แจงเกี่ยวกับแนวทางพัฒนาจัดสภาพแวดล้อมและบรรยากาศ  ขาดความร่วมมือจากผู้บริหาร ขาดงบประมาณในการบริหารจัดการ  พนักงานไม่เข้าใจในบทบาทหน้าที่ของตนเองในการพัฒนาจัดสภาพแวดล้อมและบรรยากาศ

2. แนวทางการพัฒนาจัดสภาพแวดล้อมและบรรยากาศ ในกองการศึกษา สำนักงานเทศบาลเมืองมุกดาหาร ประกอบด้วย  1) ประชุมเชิงปฏิบัติการ 2) การศึกษาดูงานทศบาลต้นแบบ  3) การมอบหมายงานภารกิจและการนิเทศการดำเนินพัฒนาจัดสภาพแวดล้อมและบรรยากาศ  และ  4) การติดตามและประเมินผลโดยการนิเทศภายใน  และร่วมกันสรุปผล และปัญหาในการดำเนินงาน

3.  ผลการดำเนินการพัฒนาจัดสภาพแวดล้อมและบรรยากาศ  ในกองการศึกษา สำนักงานเทศบาลเมืองมุกดาหาร  พบว่า ก่อนการพัฒนา  พนักงานเทศบาล  จำนวน 10 คน ไม่มีความรู้ความเข้าใจ และเทคนิควิธีการในการพัฒนาสภาพแวดล้อมและบรรยากาศ  หลังการพัฒนาพนักงาน มีความรู้ความเข้าใจ และเทคนิควิธีการในการพัฒนาสภาพแวดล้อมและบรรยากาศ ทำให้พนักงานนำความรู้ความเข้าใจ และเทคนิควิธีการที่ได้รับไปพัฒนางานในกระบวนการพัฒนาจัดสภาพแวดล้อมและบรรยากาศ  ทำให้เกิดผลดีต่อผู้ปฏิบัติงานและผู้บริหารที่ทำงานร่วมกัน โดยต่างฝ่ายต่างรู้ถึงความต้องการ และความพึงพอใจต่อกัน ทำให้เป้าหมายขององค์การสัมฤทธิ์ผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ   มีการติดตามและประเมินผลเพื่อเป็นข้อมูลพัฒนาปรับปรุงต่อไป

Article Details

Section
บทความวิจัย