การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม เพื่อพัฒนาศักยภาพครูด้านการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โรงเรียนเย็นสยามวิทยา สังกัดสำนักงานเขต พื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาฬสินธุ์ เขต 3
Main Article Content
Abstract
การวิจัยครั้งนี้ มีความมุ่งหมายของการวิจัยเพื่อ 1) ศึกษาสภาพและปัญหาด้านการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ 2) หาแนวทางพัฒนาศักยภาพครูด้านการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และ 3) ติดตามและประเมินผลการพัฒนาศักยภาพครูด้านการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โรงเรียนเย็นสยามวิทยา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาฬสินธุ์ เขต 3 โดยใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมตามแนวคิดของ Kemmis & Mc Taggart ได้แก่ 1) ขั้นการวางแผน (Planning) 2) ขั้นการปฏิบัติการ (Action) 3) ขั้นการสังเกตการณ์ (Observation) และ 4) ขั้นการสะท้อนกลับ (Reflection) กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ประกอบด้วย 1) กลุ่มผู้ร่วมวิจัย จำนวน 5 คน และ 2) กลุ่มผู้ให้ข้อมูล จำนวน จำนวน 39 คน เครื่องมือที่ใช้ในวิจัยประกอบด้วย แบบสัมภาษณ์ แบบสอบถามแบบประเมินความพึงพอใจ แบบบันทึกข้อมูล แบบสังเกต แบบประเมินแผนการจัดการเรียนรู้ แบบประเมินการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ( ) และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) ส่วนข้อมูลเชิงคุณภาพใช้การวิเคราะห์เชิงเนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า
1. สภาพและปัญหาการจัดการเรียนรู้
1.1 สภาพ พบว่า โรงเรียนมีหลักสูตรสถานศึกษาทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ ครูจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ตามโครงสร้างของหลักสูตรที่โรงเรียนกำหนด แต่การกำหนดกิจกรรมการเรียนรู้ในแผนการจัดการเรียนรู้ขาดการส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ตามความถนัด ความสนใจ และความสามารถ บางรายวิชาผู้เรียนได้เรียนรู้โดยการท่องจำ การจดบันทึก การจัดการเรียนรู้ของครูขาดการติดตามและประเมินผล
1.2 ปัญหา พบว่า การจัดการเรียนรู้ของครูยังยึดครูเป็นสำคัญ ใช้วิธีการสอนแบบบรรยาย ขาดการฝึกฝนให้ใช้กระบวนการคิด ครูมีความรู้ความเข้าใจในการจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญค่อนข้างน้อย ตลอดจนขาดทักษะการในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
2. แนวทางการพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ดำเนินการ 2 วงรอบ โดยในวงรอบที่ 1 ใช้ 2 แนวทาง ได้แก่ 1) การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการโดยเน้นการทำแผนการจัดการเรียนรู้และการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ 2) การนิเทศภายใน ส่วนในวงรอบที่ 2 ใช้ 2 แนวทาง คือ การสาธิตการสอนและการนิเทศภายใน
3. การติดตามและประเมินผล พบว่า หลังการอบรมเชิงปฏิบัติการ ครู จำนวน 5 คน มีความสามารถในการจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญอยู่ในระดับมาก เขียนแผนการจัดการเรียนรู้ได้เหมาะสมกับธรรมชาติและสนองความต้องการของผู้เรียน สามารถสร้างความรู้ และเปิดโอกาสให้ผู้เรียนประเมินตนเอง ส่วนด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ พบว่า ผลการประเมินอยู่ในระดับมาก จะเห็นได้จาก ครูจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญได้อย่างดี ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอนทุกขั้นตอนArticle Details
บทความทุกบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ถือว่าเป็นลิขสิทธิ์ของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร