การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาวินัยนักเรียน ระดับประถมศึกษา โรงเรียนบ้านโคกใหญ่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุบลราชธานี เขต 5
Main Article Content
Abstract
การวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อ 1) ศึกษาสภาพและปัญหาเกี่ยวกับวินัยนักเรียน 2) หาแนวทางการพัฒนาวินัยนักเรียน 3) ติดตามผลและประเมินผลการพัฒนาวินัยนักเรียนโดยใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม 4 ขั้นตอน คือ ขั้นการวางแผน ขั้นการปฏิบัติการขั้นการสังเกตการณ์ ขั้นการสะท้อนกลับ กลุ่มเป้าหมายในการวิจัย ประกอบด้วย กลุ่มผู้ร่วมวิจัย จำนวน 11 คน ได้แก่ ผู้วิจัย จำนวน 1 คน และผู้ร่วมวิจัย จำนวน 10 คน และกลุ่มผู้ให้ข้อมูล ได้แก่ ผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้ปกครองนักเรียน นักเรียน จำนวน 71 คน และกลุ่มเป้าหมายในการพัฒนา คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - 6 จำนวน 211 คน การวิจัยครั้งนี้ดำเนินการ 2 วงรอบ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบบันทึกการประชุม แบบบันทึกการสัมภาษณ์ แบบบันทึกการสังเกตพฤติกรรม และแบบสอบถามพฤติกรรม การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดยการหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ส่วนข้อมูลเชิงคุณภาพใช้การวิเคราะห์เชิงเนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า
ผลการพัฒนาวินัยนักเรียน โดยการสังเกตพฤติกรรมของนักเรียน การสัมภาษณ์ผู้ร่วมวิจัย และผู้ที่เกี่ยวข้อง การประเมินพฤติกรรมการพัฒนาวินัยนักเรียน
1. ผลการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานการประชุมปรับปรุงคู่มือระเบียบวินัยนักเรียนในด้านความสะอาด ด้านการตรงต่อเวลา ด้านการแต่งกาย และด้านการเข้าแถว พบว่า คณะครูมีความเข้าใจเกี่ยวกับระเบียบวินัยนักเรียน และสามารถชี้แจงให้นักเรียนและผู้ปกครองได้ปฏิบัติร่วมกันอย่างถูกต้อง
2. ผลการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานการประชุมชี้แจงการใช้คู่มือระเบียบวินัยนักเรียนโรงเรียนบ้านโคกใหญ่ พบว่า นักเรียนผู้ปกครองมีความรู้ความเข้าใจในแนวปฏิบัติตามความจำเป็นที่ต้องนำมาเป็นกฎระเบียบข้อปฏิบัติของนักเรียนตามคู่มือระเบียบวินัยนักเรียน ผู้ปกครองมีความพึงพอใจมากที่โรงเรียนได้ให้ความสำคัญในการช่วยเหลือดูแลนักเรียนในด้านระเบียบวินัยทำให้นักเรียนมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านวินัยไปในทางที่ดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยพัฒนาบุคลิกภาพของนักเรียนให้ดีขึ้นด้วย
3. ผลการติดตามและประเมินผลการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาวินัยนักเรียนโดยใช้กิจกรรม การประกวดห้องเรียนดีเด่น กิจกรรมโฮมรูม กิจกรรมแนะแนว กิจกรรมเยี่ยมบ้าน พบว่า ด้านความสะอาด นักเรียนมีความรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบดูแลความสะอาด ทั้งในห้องเรียนและเขตพื้นที่รับผิดชอบ ด้านการตรงต่อเวลา นักเรียนมีความตรงต่อเวลาในการเข้าเรียนและเข้าร่วมกิจกรรมของทางโรงเรียน ด้านการแต่งกาย นักเรียนแต่งกายสะอาด สุภาพเรียบร้อย ไม่ปล่อยเสื้อลอยชาย สวมรองเท้าถูกต้องตามระเบียบของโรงเรียน และด้านการเข้าแถว นักเรียนเข้าแถวเป็นระเบียบมากขึ้นไม่คุยกัน และไม่หยอกล้อกันในเวลาเข้าแถว ปฏิบัติกิจกรรมด้วยความตั้งใจ
4. ผลการประเมินพฤติกรรมความมีวินัยของนักเรียน คือ 1) การรักษาความสะอาด 2) การตรงต่อเวลา 3) การแต่งกาย 4) การเข้าแถว โดยผู้อำนวยการโรงเรียนครู และนักเรียน พบว่า วงรอบที่ 1 ก่อนการพัฒนาวินัยนักเรียน พฤติกรรมความมีวินัยของนักเรียนโดยภาพรวม อยู่ในระดับปานกลาง ยกเว้นด้านการรักษาความสะอาด อยู่ในระดับน้อย หลังการพัฒนาวินัยนักเรียน พฤติกรรมความมีวินัยของนักเรียนโดยภาพรวม อยู่ในระดับมาก ยกเว้นด้านการรักษาความสะอาด อยู่ในระดับปานกลาง วงรอบที่ 2 หลังการพัฒนาวินัยนักเรียน พฤติกรรมความมีวินัยของนักเรียนโดยภาพรวม อยู่ในระดับมากที่สุดทุกด้านArticle Details
บทความทุกบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ถือว่าเป็นลิขสิทธิ์ของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร