ปัญหาทางกฎหมายในการจัดระบบ โครงสร้างกลไกการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา ศึกษากรณี สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
คำสำคัญ:
ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา, กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา, การบริหารงานบุคคล, สำนักงานคณะกรรมการการศึกษา ขั้นพื้นฐานบทคัดย่อ
บทความนี้มีความมุ่งหมายที่จะนำเสนอถึงกฎเกณฑ์ทางกฎหมายเกี่ยวกับกลไกการบริหารงานบุคคล การกระทำทางปกครอง และการควบคุมและตรวจสอบการกระทำทางปกครองของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งระบบการบริหารงานบุคคลเพื่อให้เป็นไปตามระบบคุณธรรม (Merit System) จะมีการจัดตั้งองค์กรเพื่อทำหน้าที่ ในการบริหารงานบุคคลขึ้นมาในส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ โดยมีองค์กรกลางการบริหารงานบุคคลเป็นผู้กำหนดนโยบายบริหารงานบุคคลมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการบริหารงานบุคคล เพื่อให้องค์กรบริหารงานบุคคลในส่วนราชการ หรือหน่วยงานของรัฐถือปฏิบัติ ตลอดจนควบคุมและตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมาย กำกับ ดูแล ติดตาม และประเมินผลการบริหารงานบุคคลของส่วนราชการหรือหน่วยงานในสังกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุด โดยได้ศึกษาถึงวิวัฒนาการ แนวคิด ทฤษฎี และหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคล การกระทำทางปกครอง และการควบคุมตรวจสอบการกระทำทางปกครองขององค์กรการบริหารงานบุคคลภาครัฐของข้าราชการประเภทอื่นในประเทศไทยและต่างประเทศ ทั้งนี้ เพื่อให้ทราบถึงปัญหาและแนวทางแก้ไขระบบการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาของประเทศไทย โดยเฉพาะกรณีซึ่งสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
เมื่อพิจารณาการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาของประเทศไทยแล้วจะเห็นได้ว่า มีบทบัญญัติบางประการที่ไม่เหมาะสม ไม่สอดคล้องกับแนวคิด ทฤษฎี และหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคล การกระทำทางปกครอง และการควบคุมตรวจสอบการกระทำทางปกครอง และไม่เอื้อต่อหลักประกันความเป็นธรรมให้แก่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาอย่างเพียงพอในบางกรณีอันส่งผลให้เกิดปัญหาบางประการ ซึ่งได้แก่ ปัญหาความล่าช้าในการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และปัญหาการขาดความเสมอภาค มีความลักลั่น และเกิดความไม่เท่าเทียมกันในกระบวนการบริหารงานบุคคลสำหรับตำแหน่งผู้บริหารการศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เมื่อเปรียบเทียบกับราชการส่วนอื่น รวมถึงมีการที่ไม่เป็นไปตามหลักความเป็นกลางในการใช้อำนาจหน้าที่ขององค์กรกลางเพื่อทำการควบคุมและตรวจสอบการดำเนินการทางวินัยของตำแหน่งดังกล่าว
จากการศึกษาองค์กรควบคุมและตรวจสอบการกระทำทางปกครองในการบริหารงานบุคคล ของภาครัฐในต่างประเทศ ซึ่งได้แก่ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และประเทศญี่ปุ่น พบว่า องค์กรควบคุมตรวจสอบการกระทำทางปกครองในการบริหารงานบุคคลของภาครัฐในต่างประเทศดังกล่าวมีหลายรูปแบบ การจัดตั้งในรูปแบบใดย่อมขึ้นอยู่กับความจำเป็นที่ต้องการในด้านบทบาทและพันธกิจ เพื่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดภายใต้บริบททางสังคมในขณะนั้น โดยกฎหมายของสหราชอาณาจักร มีคณะกรรมการภายใต้ฝ่ายบริหารทำหน้าที่วางนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาข้าราชการ และมีคณะกรรมการที่เป็นอิสระจากรัฐบาลทำหน้าที่พิทักษ์ระบบคุณธรรม ทั้งนี้ จะมีคณะกรรมการกลางผสมระหว่างคณะกรรมการอิสระและหน่วยงานที่ขึ้นตรงกับฝ่ายบริหาร ในส่วนกฎหมายของสหรัฐอเมริกานั้น มีรูปแบบคณะกรรมการที่เป็นอิสระและขึ้นตรงต่อฝ่ายบริหาร สำหรับประเทศญี่ปุ่นได้นำรูปแบบคณะกรรมการอิสระของสหรัฐอเมริกามาปรับใช้ ซึ่งหลักการดังกล่าวถูกนำมาเป็นแบบในการจัดตั้งองค์กรควบคุมและตรวจสอบการกระทำทางปกครองในการบริหารงานบุคคลของภาครัฐในประเทศไทย ซึ่งได้แก่ คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เรียกโดยย่อว่า “ก.พ.” ที่เป็นองค์กรกลางบริหารงานบุคคลของข้าราชการพลเรือนภายใต้ฝ่ายบริหาร มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมี อ.ก.พ. กระทรวง อ.ก.พ. กรม และ อ.ก.พ. จังหวัด ที่ตั้งขึ้นเพื่อการกระจายอำนาจ และทำหน้าที่เป็นองค์กรปฏิบัติงานการบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐ โดยแยกคณะกรรมการที่ทำหน้าที่พิทักษ์ระบบคุณธรรม หรือ ก.พ.ค. เป็นอีกคณะหนึ่ง ดังนั้น ควรมีการนำแนวคิดการควบคุมและตรวจสอบการกระทำทางปกครองในการบริหารงานบุคคลของภาครัฐในต่างประเทศ และรูปแบบผสมผสานที่เป็นคณะกรรมการอิสระ และคณะกรรมการภายใต้ฝ่ายบริหาร รวมทั้งรูปแบบของข้าราชการพลเรือนของประเทศไทยมาปรับใช้ในการจัดตั้งองค์กรควบคุมและตรวจสอบการกระทำทางปกครองในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยกำหนดให้มีการตั้งคณะกรรมการที่มีอำนาจหน้าที่ควบคุมและตรวจสอบดุลพินิจของบังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจในระดับเขตพื้นที่การศึกษา และทำหน้าที่บริหารงานบุคคลสำหรับตำแหน่งผู้บริหารการศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยตั้ง อ.ก.ค.ศ. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานขึ้นมาเป็นการเฉพาะอีกชั้นหนึ่ง เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและสอดคล้องกับแนวคิด ทฤษฎี และหลักกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับกลไกการบริหารงานบุคคล การกระทำทางปกครอง และการควบคุมและตรวจสอบการกระทำทางปกครองต่อไป
References
กมลชัย รัตนสกาววงศ์. (2546). กฎหมายปกครอง (พิมพ์ครั้งที่ 5). สำนักพิมพ์วิญญูชน.
ชาญชัย แสวงศักดิ์. (2552). กฎหมายปกครอง Administrative Law. มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 (2542, 19 สิงหาคม) ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 116 ตอนที่ 74 ก. หน้า 1-23.
พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครู พ.ศ. 2523. (2523, 13 ตุลาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 97 ตอนที่ 158. หน้า 37-73.
พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547. (2547, 23 ธันวาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 121 ตอนพิเศษ 79 ก. หน้า 22-74.
พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2551. (2551, 20 กุมภาพันธ์). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 125 ตอนที่ 36 ก. หน้า 28-36.
พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551. (2551, 25 มกราคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 125 ตอนที่ 22 ก. หน้า 1-48.
พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 (2546, 6 กรกฎาคม) ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 120 ตอนที่ 62 ก. หน้า 1-30.
วิสูตร ประสิทธิ์ศิริวงศ์. (2561). องค์กรกลางบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐมีแต่คณะกรรมการเท่านั้นหรือ?. https://prachatai.com/journal/ 2018/11/79572
ศรันย์ดิษฐ์ เบญจพงศ์. (2563). กับแกล้มบริหารคน: ระบบบริหารทรัพยากรบุคคลในภาครัฐ. https://bit.ly/37olyzM
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ. (2566). ข้อมูลประจำภาคเรียน 1/2566 ข้อมูล ณ วันที่ 10 มิ.ย. 2566. http://exchange.more.go.th/web/ Login.htm?mode=index
สำนักงานปฏิรูปการศึกษา. (2542). รายงานการศึกษาวิเคราะห์เพื่อการปฏิรูปการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ. สำนักปฏิรูปการศึกษากระทรวงศึกษาธิการ.
WIPo. (1947). National Public Service Act (ACT No.120 of October 21, 1947. https://wipolexres.wipo.int/edocs/lexdocs/laws/en/jp/jp186en.html
Downloads
เผยแพร่แล้ว
How to Cite
ฉบับ
บท
License
Copyright (c) 2024 คณะนิติรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎร้อยเอ็ด

This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นลิขสิทธิ์ของวารสารสังคมศาสตร์ นิติรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎร้อยเอ็ด
ความคิดเห็นในบทความและงานเขียน ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารฉบับนี้ เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคลของผู้ประพันธ์โดยอิสระ กองบรรณาธิการ วารสารสังคมศาสตร์ นิติรัฐศาสตร์ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยเสมอไป หากท่านประสงค์จะนำบทความหรืองานเขียนเล่มนี้ไปตีพิมพ์เผยแพร่ จะต้องได้รับอนุญาตจากผู้ประพันธ์ตามกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์