สถานะองค์ความรู้ด้านชายแดนไทยในแวดวงวิชาการไทย ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1992 ถึง 2022

ผู้แต่ง

  • สุวิชชญา จันทรปิฎก สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

คำสำคัญ:

สถานะองค์ความรู้ด้านชายแดนไทย, พื้นที่ชายแดน, การบริหาร จัดการชายแดน

บทคัดย่อ

บทความวิจัยชิ้นนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) สำรวจสถานะองค์ความรู้ด้านชายแดนไทยของแวดวงวิชาการไทยตั้งแต่ปี ค.ศ. 1992 ถึง 2022 และ 2) วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างองค์ความรู้ด้านชายแดนไทยของแวดวงวิชาการไทยกับพัฒนาการของบริบทด้านความมั่นคง การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมและวัฒนธรรมในประเทศและ/หรือระหว่างประเทศ ผู้เขียนใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพในการดำเนินการวิจัย โดยใช้การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ ด้วยการวิจัยและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงเอกสารแบบสร้างข้อสรุปจากข้อมูลเชิงบรรยาย นำมาซึ่งบทสรุปที่มาจากการวิเคราะห์เชื่อมโยงข้อมูลกับแนวคิดที่ได้จากการทบทวนวรรณกรรมที่ผู้เขียนสังเคราะห์เป็นกรอบแนวคิดการวิจัย จากการสังเคราะห์แนวคิดเกี่ยวกับพื้นที่ชายแดน การบริหารจัดการชายแดนและบริบทนโยบายของรัฐไทย และการศึกษาชายแดนผ่านนโยบายต่างประเทศไทยกับบริบททางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งจากการศึกษาวิจัยครั้งนี้ ผลการวิจัย พบว่า ประเด็นศึกษาด้านชายแดนไทยในแวดวงวิชาการไทย สามารถจัดแบ่งได้ตามมิติทางการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคม-วัฒนธรรม โดยในแต่ละปี แต่ละด้านชายแดนมีมิติของสาขาวิชา และประเด็นที่ทำการศึกษาเน้นหนักและให้ความสำคัญแตกต่างกัน ถึงแม้ว่าด้วยนโยบายต่างประเทศของไทยและนโยบายภายในของรัฐเกี่ยวกับชายแดน ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา จะมุ่งความสำคัญไปที่การส่งเสริมกิจกรรมและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ แต่ก็มีรายละเอียดเชิงเนื้อหาที่สะท้อนผ่านงานศึกษาแตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะมิติทางด้านการเมือง ความมั่นคง รวมถึงสังคม-วัฒนธรรมที่ยิ่งมีความแตกต่างตามลักษณะเฉพาะของแต่ละด้านชายแดนในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งงานวิจัยการสำรวจสถานะองค์ความรู้ด้านชายแดนไทยชิ้นนี้ อาจเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยต่อแวดวงวิชาการ ในการศึกษาเกี่ยวกับชายแดนไทยและแวดวงนักปฏิบัติในส่วนราชการด้านความมั่นคง ทั้งในระดับนโยบาย ยุทธศาสตร์ และระดับพื้นที่ ในการจัดทำแผนด้านความมั่นคงและการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ชายแดนที่สอดคล้องกับบริบทและความต้องการเฉพาะของพื้นที่ต่อไป

References

เก็ตถวา บุญปราการ. (2559). ผู้ค้าข้ามแดนไทย-มาเลเซีย: และพื้นที่ชีวิตในตลาดปาดังเบซาร์. ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

จักรกริช สังขมณี. (2561). Limology: ชายแดนศึกษา กับ เขต-ขันธ์วิทยาของพื้นที่ใน/ระหว่าง. สำนักพิมพ์สยามปริทัศน์.

นิติ ภวัครพันธุ์. (2556). ชีวิตถิ่นที่คลุกเคล้า. วารสารสังคมศาสตร์ 25(2), 205-235.

รุ่งทิพย์ จันทร์ธนะกุล และปริญญา นวลเปียน. (2562). หน่วยที่ 6 ลักษณะข้ามชาติ. ใน เอกสารการสอนชุดวิชาความคิดทางการเมืองและสังคม. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

ศุภมิตร ปิติพัฒน์. (2552). พรมแดนศึกษา. โครงการความมั่นคงศึกษา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

สุรชาติ บำรุงสุข. (2552). พรมแดนศึกษา. โครงการความมั่นคงศึกษา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

สมัคร์ กอเซ็ม. (2553). ปฏิภาคภาวะของพรมแดนชาติพันธุ์ และรัฐชาติ ในตลาดเมืองชายแดนแม่สอด. วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 22(2), 11-51.

สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ. (2559). แผนบริหารจัดการชายแดนด้านความมั่นคง (พ.ศ.2559-2564). http://www.nsc.go.th/wp-content/uploads/2018/10/แผนบริหารจัดการชายแดนด้านความมั่นคง.pdf

Berg, E., & Houtum, H. V. (2003). Routing Borders between Territories, Discourse and Practice. Ashgate Publishing Limited.

Holsti, K.J. (2004). Taming the Sovereigns: Institutional Change in International Politics. Cambridge University Press.

Hussain, Imtiaz. (2013). The Border Governance and the “Unruly” South. a division of St. Martin’s Press LLC.

Rokkan, Stein. (1983). Economy, Territory, Identity: Politics of West European Peripheries. Sage Publications.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2024-06-29