ผลกระทบจาการเผาใบอ้อยและแนวทางการแก้ไข The Impacts of Sugarane Leaf Burning and Solving Methods
บทคัดย่อ
ถึงแม้ประเทศไทยจะสามารถส่งออกอ้อยในรูปน้ำตาลและกากน้ำตาลได้กับอันดับ 4 ของโลก โดยทำเงินตราเข้าประเทศปีละไม่ต่ำกว่า 35,000 ล้านบาท แต่ในขณะเดียวกัน เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยก็ยังประสบปัญหาในเรื่องราคาอ้อยตกต่ำและมีปริมาณที่ล้นตลาด และที่สำคัญ คือ ปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขาดแคลนแรงงานในการเก็บเกี่ยวอ้อยและปัญหาค่าจ้างแรงงานสูง โดยคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 50 ของต้นทุนการผลิตอ้อยทั้งหมดต่อฤดูปลูก ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการขยายพื้นที่ปลูกอ้อยและการเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ ทำให้เกษตรบางส่วนหันมาใช้วิธีการเผาใบอ้อยทั้งก่อนการเตรียมดิน และก่อนและหลังการเก็บเกี่ยวอ้อย เพื่อลดปัญหาด้านแรงงานและสามารถตัดอ้อยได้เร็วทันฤดูเปิดหีบของโรงงานน้ำตาล แต่วิธีการนี้ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เช่น ปัญหาการเกิดปรากฏการณ์เรือนกระจกที่ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น โครงสร้างของดินถูกทำลาย การตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ปัญหาการใช้น้ำ และปัญหาผลผลิตและคุณภาพน้ำตาลที่ผลิตได้ รวมทั้งยังส่งผลให้ประสิทธิภาพการผลิตของโรงงานลดต่ำลงด้วย ดังนั้น จึงจำเป็นต้องแก้ไขและลดปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน และรณรงค์ให้เกษตรกรหันมาใช้วิธีการตัดอ้อยสดส่งโรงงานแทน