การใช้น้ำสกัดชีวภาพหนอนตายหยากควบคุมลูกน้ำยุงลาย
บทคัดย่อ
การศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้น้ำสกัดชีวภาพหนอนตายหยากควบคุมลูกน้ำยุงลาย ในน้ำกลั่นและน้ำคลองแสนแสบ ปริมาตร 1 ลิตร ที่ระดับความเข้มข้น 6 ระดับ คือ 0, 10, 20, 30, 40 และ 50 มิลลิลิตร เปรียบเทียบกับน้ำสกัดชีวภาพสับปะรด โดยดูจากอัตราการตายของลูกน้ำยุงลายระยะที่ 4 เป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพของน้ำสกัดชีวภาพ ผลการศึกษา พบว่า ลูกน้ำยุงลายที่อยู่ในน้ำกลั่นผสมน้ำสกัดชีวภาพหนอนตายหยากที่ระดับความเข้มข้น 0 มิลลิลิตร มีอัตราการตายร้อยละ 86.33 และที่ระดับความเข้มข้น 10 ถึง 50 มิลลิลิตรมีอัตราการตายร้อยละ 100 ส่วนลูกน้ำยุงลายที่อยู่ในน้ำคลองผสมน้ำสกัดชีวภาพหนอนตายหยากที่ระดับความเข้มข้น 0 มิลลิลิตร มีอัตราการตายร้อยละ 78.33 และที่ระดับความเข้มข้น 10 ถึง 50 มิลลิลิตรมีอัตราการตายร้อยละ 100 ลูกน้ำยุงลายที่อยู่ในน้ำกลั่นผสมน้ำสกัดชีวภาพจากสับปะรดที่ระดับความเข้มข้น 0 และ 10 มิลลิลิตร มีอัตราการตายร้อยละ85.33 และ 93.33 ตามลำดับ และที่ระดับความเข้มข้น 20 ถึง 50 มิลลิลิตร มีอัตราการตายร้อยละ 100 และลูกน้ำยุงลายที่อยู่ในน้ำคลองผสมน้ำสกัดชีวภาพจากสับปะรดที่ระดับความเข้มข้น 0 และ 10 มิลลิลิตร มีอัตราการตายร้อยละ 72.67 และ 80.67 ตามลำดับ และที่ระดับความเข้มข้น 20 ถึง 50 มิลลิลิตร มีอัตราการตายร้อยละ 100 จากการศึกษาครั้งนี้สามารถสรุปได้ว่า น้ำสกัดชีวภาพหนอนตายหยากมีความเป็นพิษต่อลูกน้ำยุงลายในทุกระดับความเข้มข้นตั้งแต่ 10, 20, 30, 40 และ 50 มิลลิลิตร โดยมีอัตราการตายของลูกน้ำยุงลายร้อยละ 100 ในทุกหน่วยการทดลอง ส่วนในน้ำสกัดชีวภาพสับปะรดมีความเป็นพิษต่อลูกน้ำยุงลายที่ระดับความเข้มข้นตั้งแต่ 20, 30, 40 และ 50 มิลลิลิตร ซึ่งจะเห็นได้ว่าความเข้มข้นของน้ำสกัดชีวภาพที่เพิ่มขึ้นจะมีผลต่อจำนวนการตายของลูกน้ำยุงลาย