การวิเคราะห์ปัญหาของผลประโยชน์ทับซ้อนของผู้บริหารประเทศ
บทคัดย่อ
ความไม่เข้าใจปัญหาของผลประโยชน์ทับซ้อน ทำให้ประชาชนขาดหลักเกณฑ์ในการวินิจฉัยความผิดเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อนและเข้าใจผิดว่าผลประโยชน์ทับซ้อนไม่น่าจะมีปัญหาการทุจริต และว่าการเป็นเจ้าของธุรกิจเป็นความชอบธรรมของบุคคลผู้มีฐานะร่ำรวยที่จะเข้าสู่การมีอำนาจทางการเมือง จึงไม่น่าจะเป็นเหตุผลของความทุจริตหรือเห็นว่าไม่น่าจะมีความสำคัญที่จะต้องใส่ใจในการตัดสินใจลงคะแนนเลือกตั้ง ปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนของนักการเมืองเป็นความล้มเหลวของสังคม เมื่อใดที่สังคมมีนักการเมืองที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน สถานการณ์เช่นนี้แสดงให้เห็นความผิดปกติของสังคมหรือเป็นสถานการณ์ที่ผิดเพี้ยนไปจากทำนองครองธรรม และมีธรรมชาตินำไปสู่ความขัดแย้งในสังคม และนำไปสู่ความสูญเสียกับทุกฝ่าย โดยหลักกานักการเมืองที่เข้ามาเป็นรัฐบาลมีหน้าที่เป็นบุคคลที่สามทำหน้าที่กำกับดูแล “ข้อตกลงของสังคม (Social Contract)” ซึ่งหมายถึงกฎหมาย กฏเกณฑ์ กติกาของสังคม เมื่อสังคมล้มเหลวในการสกัดกั้นปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนของนักการเมือง สภาวะเช่นนี้ย่อมเปิดทางให้สังคมเดินเข้าสู่แดนของสังคมทาส ปราศจากอิสรภาพในการดำรงชีวิตประกอบอาชีพ มีความเป็นอยู่แบบแร้นแค้น เนื่องจากต้องทำงานส่งส่วยให้กับผู้ปกครอง นักการเมืองมีผลประโยชน์ทับซ้อนย่อมมีผลประโยชน์จูงใจให้สะสมอำนาจทางการเมืองเพื่อเพิ่มพูนความมั่งคั่งให้ตนเองและใช้ความมั่งคั่งสะสมอำนาจทวีคูณอย่างไม่รู้จบ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มีบทบัญญัติให้นักการเมืองปลอดจากผลประโยชน์ทับซ้อนแต่ยังคงล้มเหลวในการสกัดกั้นปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน ความขัดแย้งเพื่อสกัดกั้นปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนและการแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงเป็นความชอบธรรมในการป้องกันสังคมไทยมิให้ก้าวเข้าสู่แดนของสังคมทาส และในการรักษาสมดุลของขั้วความขัดแย้งเพื่อให้ปราศจากการครอบงำแบบเบ็ดเสร็จเพื่อคุ้มครองอิสรภาพและเสรีภาพของคนไทยอย่างเสมอภาค