คุณภาพสิ่งแวดล้อมและการดำเนินชีวิต ของชุมชนบริเวณใกล้เหมืองแร่ทองคำ ในจังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก
บทคัดย่อ
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้แก่ คุณภาพอากาศ น้ำผิวดินและน้ำบาดาล รวมทั้งการดำเนินชีวิตของชุมชนพื้นที่บริเวณใกล้เหมืองแร่ทองคำในตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร ตำบลท้ายดง อำเภอวังโปร่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ และตำบลวังโพรง อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก โดยดำเนินการสุ่มเก็บตัวอย่างฝุ่นละอองรวม (Total Suspended Particulate: TSP) และฝุ่นขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) ที่ระยะห่างจากเหมืองแร่ 0.5 และ 1 กิโลเมตร ในเดือนมีนาคม 2554 ถึงกุมภาพันธ์ 2555 เก็บตัวอย่างน้ำผิวดินทั้งหมด 14 จุด และน้ำบาดาล 11 จุด ในเดือนพฤษภาคม สิงหาคม และตุลาคม พ.ศ.2555 และ 2556 ผลการศึกษาพบว่า TSP มีค่าอยู่ในช่วง 75.33-230.12 และ 14.15-105.32 µg/m3 ตามลำดับ PM10 มีค่าอยู่ในช่วง 26.11-99.21 และ 9.23-88.52 µg/m3 ตามลำดับ ซึ่งมีค่าไม่เกินค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศ คุณภาพน้ำผิวดินและน้ำบาดาลโดยทั่วไปอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานกรมควบคุมมลพิษ สำหรับการดำเนินชีวิตของชุมชนในพื้นที่ส่วนใหญ่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปได้ และเข้าใจถึงผลกระทบจากการดำเนินกิจกรรมจากเหมืองแร่ทองคำมากขึ้น และพร้อมที่จะคอยสังเกตความเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตด้วย
คำสำคัญ: เหมืองแร่ทองคำ โลหะหนัก คุณภาพน้ำ คุณภาพอากาศ การดำเนินชีวิตของคนในชุมชน
ABSTRACT
This study evaluates the air, surface water and groundwater quality, and community livelihood near the gold mining in areas of 1) Khao Jed Lok Sub-district, Tapklro District, Phichit Province, 2) Tai Dong Sub-district, Wang Prong District, Phetchabun Province, and 3) Wang Phrong Sub-district, Noen Maprang District, Phitsanulok Province in Thailand. TPS and PM10 were collected at 0.5 and 1 km from the gold mine in March 2011- February 2012. The water quality was tested using random samplings of 14 surface water points and 11 groundwater points in May, August, and October in 2011 and 2012. The results showed that the concentrations of TSP were in the range of 75.33-230.12 and 14.15-105.32 µg/m3 at 0.5 and 1 km from the gold mine, respectively. The PM10 concentrations were 26.11-99.21 and 9.23-88.52 µg/m3, respectively. These particles did not exceed air quality standards. The surface and ground water qualities were generally within the Pollution Control Department standard. Regarding the community livelihood in most areas, it was found that the villagers were able to adapt to environmental changes and they had greater understanding of effect of the gold mining activities and were ready to monitor their environment, which affected their living.
Keywords: Gold Mining; Heavy Metal; Water Quality; Air Quality; Community Livelihood