มลพิษทางอากาศในระดับภูมิภาค และการแพร่กระจายในระยะทางไกล: (2) ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
บทคัดย่อ
บทคัดย่อ
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลไปถึงแหล่งกำเนิดมลพิษชนิดต่าง ๆ อันเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นและสามารถแพร่กระจายไปยังส่วนต่าง ๆ ของภูมิภาคหรือภายนอกภูมิภาคได้ บทความนี้มุ่งศึกษาแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศและการแพร่กระจายในระยะทางไกลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ การไหลเข้าของมลพิษทางอากาศจากภายนอกภูมิภาคซึ่งส่งผลกระทบกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยตรง และการไหลออกของมลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นภายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปยังภูมิภาคอื่น จากการศึกษาพบว่า ระบบลมมรสุมเป็นปัจจัยสำคัญในการควบคุมการแพร่กระจายในระยะทางไกลของมลพิษทางอากาศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทางตอนบนของภูมิภาคบริเวณคาบสมุทรอินโดจีน ในช่วงฤดูแล้งซึ่งเริ่มจากฤดูหนาวไปจนถึงฤดูร้อน พบมลพิษในระดับสูงเมื่อเทียบกับฤดูฝน โดยเกิดจากการแพร่กระจายของมลพิษทางอากาศจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และการเกิดไฟป่า/การเผาไหม้ชีวมวลในภูมิภาคนี้ ส่วนในฤดูฝน การไหลเข้าของมวลอากาศที่สะอาดจากมหาสมุทรอินเดียทำให้ปริมาณมลพิษทางอากาศในภูมิภาคอยู่ในระดับต่ำ สำหรับพื้นที่เกาะต่าง ๆ ทางตอนล่างของภูมิภาคก็สามารถอธิบายได้ในลักษณะที่คล้ายคลึงกันโดยที่ช่วงเวลาของฤดูแล้งและฤดูฝนจะสลับกับทางตอนบนของภูมิภาค
คำสำคัญ: มลพิษทางอากาศ; คาร์บอนมอนอกไซด์; เอเชียตะวันออกเฉียงใต้; ภูมิอากาศวิทยา;
การแพร่กระจายในระยะทางไกล
Abstract
Southeast Asia is a region with a potential for rapid industrialization and economic growth, which has resulted in various anthropogenic pollution sources within the region. Air pollution is one of the problems of concern, as it could be transported to other parts of the region or even further to other regions. This article reviews the air pollution sources and the long-range transport in Southeast Asia, in particular the inflow of air pollution from outside the region and the outflow of Southeast Asian air pollution that affects other regions. It was found that the monsoon regime dominates the air mass transport in Southeast Asia. In the continental parts of the region, high levels of air pollution were found in the dry season as compared to those of the wet season as a result of the long-range transport of air pollution from East Asia and the biomass burning within the region. During the wet season, the monsoon brings clean marine air from the Indian Ocean. In the peninsular parts of the region, the phases of wet and dry seasons are opposite but similar seasonal characteristics were found.
Keywords: Air pollution; Carbon Monoxide; Southeast Asia; Climatology,
Long-range Transport