การใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาการดื่มสุราในชุมชนหมู่บ้านหนองเต่าคำใหม่ ตำบลป่าไผ่ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่

Main Article Content

สุพิมล ขอผล
จินตวีร์พร แป้นแก้ว
ธณัชช์นรี สโรบล
สมพร สิทธิสงคราม
สายัณห์ ชัยศรีสวัสดิ์
สุมาลี ชัยศรีสวัสดิ์
ประจวบ หน่อศักดิ์

บทคัดย่อ

สถานการณ์ของการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทยแสดงถึงแนวโน้มของคนไทยมีอัตราการบริโภคสุราเพิ่มสูงมากขึ้น  และมีปัจจัยจากค่านิยมในการดื่มเพื่อความสนุกสนานรื่นเริงในงานประเพณีวัฒนธรรมต่าง ๆ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อให้เกิดปัญหาในครอบครัว ชุมชนและสังคม  คือ ปัญหาด้านสุขภาพ  การใช้ความรุนแรง ด้านอุบัติเหตุ และกระทบต่อเศรษฐกิจในครอบครัว เป็นอย่างมาก หมู่บ้านหนองเต่าคำใหม่ ตำบลป่าไผ่ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวนของผู้ป่วยโรคติดสุราเรื้อรังที่ลงทะเบียนไว้กับสถานีอนามัย  40 คน จากจำนวนประชากร 13,615 คน 117 ครัวเรือน สถานการณ์การดื่มสุราในหมู่บ้าน พบว่าพฤติกรรมการดื่มสุราในชุมชนมักเป็นการดื่มเพื่อเป็นการเข้าสังคม ตามเทศกาล งานประเพณี และค่านิยมในหมู่วัยรุ่น จำนวนผู้ติดสุราเรื้อรังจึงพบได้ในทุกกลุ่มอายุ สถานการณ์ปัญหาจากการดื่มสุรานี้ชุมชนไม่ตระหนัก และขาดความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา  ดังนั้นจึงนำการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research, PAR) โดยเน้นความร่วมมือและการพึ่งพาตนเองของชุมชน มาปรับใช้ในการแก้ไขปัญหาของชุมชนด้วยตนเอง การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินสถานการณ์การดื่มสุราและดำเนินโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการดื่มสุราในชุมชนหมู่บ้านหนองเต่าคำใหม่     มีการจัดตั้งทีมวิจัยท้องถิ่นจากประชากร หมู่บ้านหนองเต่าคำใหม่ และมีทีมวิจัยพี่เลี้ยงเป็นผู้ช่วยเหลือ เพื่อดำเนินการตามกระบวนการวิจัย PAR โดยสรุปจำนวน 6 ขั้นตอน คือ 1) การนำเสนอปัญหาการดื่มสุราต่อชุมชน 2)การตั้งทีมวิจัยท้องถิ่นประกอบด้วยคนในชุมชนเองและทีมวิจัยพี่เลี้ยงประกอบด้วยนักวิจัยเครือข่าย 3) การอบรมให้ความรู้ระเบียบวิธีการวิจัยอย่างง่าย แก่ทีมวิจัยท้องถิ่นและสร้างเครื่องมือวิจัย 4) ทีมวิจัยท้องถิ่นลงเก็บข้อมูลในชุมชนด้วยวิธีการใช้แบบสอบถามและการสัมภาษณ์5) นำเสนอข้อมูลที่วิเคราะห์ได้เกี่ยวกับปัญหาการดื่มสุราในชุมชนป้อนกลับสู่ตัวแทนชุมชน 6) ชุมชนร่วมกันดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาการดื่มสุราในชุมชน ผลการดำเนินการชุมชนและผู้นำชุมชนมีความตระหนักและให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาการดื่มสุราของชุมชน และร่วมกันดำเนินการโครงการปลอดเหล้าในงานศพของชุมชนหมู่บ้านหนองเต่าคำใหม่ และมีการขยายโครงการไปดำเนินการในทุกหมู่บ้าน จำนวน 14 หมู่บ้าน ของตำบลป่าไผ่ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ผู้นำและชาวบ้านในชุมชนจำนวนหนึ่ง สามารถ ลดและเลิกดื่มสุราได้ มีความต่อเนื่องของโครงการวิจัยโดยเทศบาลตำบลป่าไผ่นำโครงการงดเหล้าในงานศพไปดำเนินการต่อการดำเนินโครงการงดเหล้าในงานศพของชุมชน ชุมชนมีความพึงพอใจเข้าร่วมดำเนินการ เนื่องจากเห็นประโยชน์และผลกระทบในการลดความสูญเสียด้านเศรษฐกิจที่ชัดเจน รูปแบบการดำเนินการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมนี้ สามารถนำไปใช้เพื่อกระตุ้นให้ชุมชนหาแนวทางแก้ไขปัญหาของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพและนำไปใช้เป็นต้นแบบในชุมชนอื่นได้

Article Details

How to Cite
[1]
ขอผล ส., แป้นแก้ว จ., สโรบล ธ., สิทธิสงคราม ส., ชัยศรีสวัสดิ์ ส., ชัยศรีสวัสดิ์ ส. และ หน่อศักดิ์ ป. 2018. การใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาการดื่มสุราในชุมชนหมู่บ้านหนองเต่าคำใหม่ ตำบลป่าไผ่ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่. วารสารการพัฒนาชุมชนและคุณภาพชีวิต. 2, 3 (ก.ค. 2018), 313–324.
บท
บทความวิจัย

References

กุลวดี โรจน์ไพศาลกิจ และยุวดี รอดจากภัย. 2556. การวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนามาตรฐานความสะอาดและบรรจุภัณฑ์ “ขนมกระยาสารท” กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ บ้านวังควาย จังหวัดฉะเชิงเทรา. วารสารการพัฒนาชุมชนและคุณภาพชีวิต 1(3 ):163-170.

ไกรสุข สินศุข. 2543. กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการป้องกันยาเสพติดโดยการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม. มหาวิทยาลัยปทุมธานี, ปทุมธานี.

ชัชวาลย์ ทัตศิวัช. 2550. การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research- PAR): มิติใหม่ของรูปแบบวิธีวิจัยเพื่อการพัฒนาชุมชนระดับท้องถิ่น. มหาวิทยาลัยรามคำแหง, กรุงเทพฯ.

พันธ์ทิพย์ รามสูตร. 2540. การวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม. สถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล, กรุงเทพฯ.

ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.). 2548. รายงานสถานการณ์สุราประจำปี 2548. (ระบบออนไลน์). แหล่งข้อมูล: http://www.thaiemsinfo.com/autopagev4/show_page.php?topic_id=232&auto_id=9&TopicPk= (16 พฤษภาคม 2557).

สถานีอนามัยศรีบุญเรือง. 2555. สถิติผู้ป่วยที่มารับบริการ ณ สถานีอนามัย พ.ศ.2555. สถานีอนามัยศรีบุญเรือง, เชียงใหม่.

The Salvation Army in India. 2004. Summary Report of the Participatory Action Research carried out in India, October 2001 to January 2004.

Gosin M. N., P.A. Dustman, A.E. Drapeau and M.L. Harthun. 2003. Participatory action research: creating an effective prevention curriculum for adolescents in the Southwestern US. Health Education Research 18 (3) : 363 – 379.

Masotti P., M.A. George, K. Szala-Meneok, A.M. Morton C., Loock, M. Van Bibber, J. Ranford, M. Fleming and S. Mac Leod. 2006. Preventing fetal alcohol spectrum disorder in aboriginal communities: a methods development project. PLoS Medicine, San Francisco, CA.

Williams, J.B., M.A. Zizzo, L.S. Aldrich and R.T. Bowman. 2006. Participatory action research, a community mobilization srategy to reduce alcohol and drug use. The 134 th Annual Meeting & Exposition (November 4-8, 2006) of APHA.