แนวทางการใช้สติในการบำบัดผู้ที่มีอาการอารมณ์แปรปรวนแบบสองขั้ว

ผู้แต่ง

  • ภัทราวดี คงมั่น
  • เยื้อง ปั้นเหน่งเพ็ชร มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่
  • ปรุตม์ บุญศรีตัน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

คำสำคัญ:

ไบโพลาร์, ซึมเศร้า, แมเนีย, ทุกข์

บทคัดย่อ

บทความวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องโรคทางจิตในพระพุทธศาสนา 2) เพื่อศึกษาเรื่องโรคอารมณ์แปรปรวนแบบสองขั้ว 3) เพื่อศึกษาแนวทางการใช้สติในการบำบัดอาการอารมณ์แปรปรวนแบบสองขั้วซึ่งเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ

ผลการศึกษาพบว่า 1) โรคทางจิต มีศัพท์ทางพุทธศาสนาเรียกว่า เจตสิกโรโค หมายถึง โรคที่เกิดกับจิตใจ อันมีสาเหตุมาจากอุปกิเลส ทำให้เกิดความผิดปกติทางจิตใจมีอารมณ์และความกังวลที่รุนแรงทำให้บางคนมีบุคลิกภาพที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น มีความโลภ มีจิตคิดร้าย มีความโกรธ ผูกใจเจ็บ ลบล้างปิดซ่อนคุณค่าความดีของผู้อื่น  ไม่ยอมยกให้ใครดีกว่าตน มีความริษยา มีความตระหนี่ มีมารยา เป็นต้น พฤติกรรมเหล่านี้อาจเกิดจากเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ทำให้ชีวิตของแต่ละคนมีลักษณะเร่งรีบมีการแข่งขัน มีการหาความสุขแบบฉาบฉวยที่เน้นด้านวัตถุทั้งเงินทอง ชื่อเสียง เกียรติยศและอำนาจ อุปกิเลสเหล่านี้ทำให้จิตใจของมนุษย์ห่างเหินจากขนบธรรมเนียมประเพณี คุณงามความดี คนส่วนมากดิ้นรนไปตามกิเลสซึ่งนำพาจิตใจของพวกเขาเต็มไปด้วยความทุกข์, ความเดือดร้อน,ความประมาท,ความหลงระเริง, ความอยากได้ ความวุ่นวาย, ความกังวล, ความหวาดกลัว, ความเบื่อหน่าย, ความเศร้าใจ และท้อแท้ ซึ่งอาจทำให้บางคนฆ่าตัวตายเพราะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ จิตใจจึงอยู่ในสภาพที่เป็นทุกข์หรืเรียกอีกอย่างว่า “โรคทางจิต” 2) ในส่วนของโรคอารมณ์แปรปรวนแบบสองขั้วเป็นความผิดปกติทางอารมณ์ โรคนี้มีปฏิกิริยาเหมือนกันกับความเครียดที่เกิดในคนปกติที่อาจจะมีความวิตกกังวลร่วมกับอาการจิตใจไม่สดชื่น แต่ปฏิกิริยาทางอารมณ์ของผู้ที่มีอารมณ์แปรปรวนแบบสองขั้วจะอยู่นานกว่าปกติจนในที่สุดก็รุนแรงขึ้น ตัวอย่างเช่น อารมณ์เศร้าหรือครึกครื้นก็จะมากขึ้นไม่ยอมหายลักษณะอาการเช่นนี้ อาจเป็นครั้งเดียวแต่เป็นเวลานานหลายเดือนหรือหลายปี 3) การมีสติจะทำให้ไม่ปล่อยให้ใจเลื่อนลอย ไม่ปล่อยให้ความนึกคิดฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ แต่จะคอยเฝ้าระวัง เหมือนจับตาดูอารมณ์ที่ผ่านมาแต่ละอย่าง โดยใช้การตามดูรู้ทัน ทั้งร่างกายและความรู้สึกนึกคิดที่เป็นปัจจุบันขณะ ผู้ที่มีอาการอารมณ์แปรปรวนแบบสองขั้ว ซึ่งเมื่ออยู่ในกระบวนการทำงานของจิตที่มีสติ ทำให้รู้เห็นตามที่มันเป็นคือการรู้ตามความจริง จนทำให้อยู่ในภาวะตื่นตัว สามารถเข้าใจสิ่งต่างๆ ตามที่มันเป็นและคอยรักษาท่าทีของจิตโดยไม่รู้สึกทั้งในด้านติดใครอยากได้ และด้านขุ่นหมองขัดข้องใจ ให้ปราศจากอาการแปรปรวน ซึ่งเป็นภาวะจิตที่มีความปลอดโปร่ง โล่งเบา ผ่องใส ผ่อนคลาย

References

ดาวเดียวดาย. (2557). เรื่องเล่าจากยอดภูเขาน้ำแข็ง. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพมหานคร : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.

ดาราวรรณ ต๊ะปินตา. (2556). ภาวะซึมเศร้า : การบำบัดและการให้การปรึกษาโดยการปรับความคิด และพฤติกรรม. พิมพ์ครั้งที่ 2. เชียงใหม่ : วนิดาการพิมพ์.

พระมหาปองปรีดา ปริปุณฺโณ (จำปาศรี). (2545). การป้องกันและรักษาโรคตามหลักพระพุทธศาสน. วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต. บัณฑิตวิทยาลัย: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต). (2552). พุทธธรรม. พิมพ์ครั้งที่ 11. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

มาร์ค เอด แฮร์, อีริค ไธส์, กีร์ท มาคีลส์ และซาบิน ไวเกท. เกศมาศ แผ้วสกุล, วีณา หนุนพระเดช. เพียรชนันท์ ลีอุดมวงษ์ แปล. (2557). คนสองขั้ว คู่มือสำหรับผู้เป็นโรคอารมณ์สองขั้ว. นนทบุรี : สมาคมสายใยครอบครัว.

วิล ฮอล. (2555). คู่มือลดอันตรายจากการหยุดยาจิตเวช. พิมพ์ครั้งที่ 2. The Icarus Project และ Freedom Center.

สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย. (2549). ตำราไบโพลาร์. กรุงเทพมหานคร : บียอนด์เอนเทอร์ไพรซ์.

สมรัก ชูวานิชวงศ์. (2557). คู่มือสำหรับผู้ที่ดำเนินชีวิตกับโรคอารมณ์สองขั้ว. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพมหานคร: สมาคมสายใยครอบครัว.

สมภพ เรืองตระกูล. (2542). ตำราจิตเวชศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์เรือนแก้ว.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2022-02-01