ศึกษาวิเคราะห์พุทธจริยศาสตร์ในสุวัณณสังขชาดก ภาพจิตรกรรมฝาผนัง วัดพระสิงห์ วรมหาวิหาร จังหวัดเชียงใหม่

ผู้แต่ง

  • นันท์ธนัษฐ์ อินตาพรหม คณะพุทธศาสนาและปรัชญา

คำสำคัญ:

พุทธจริยศาสตร์, จิตรกรรมฝาผนังสุวัณณสังขชาดก, วัดพระสิงห์ วรมหาวิหาร

บทคัดย่อ

บทความวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1) เพื่อศึกษาพุทธจริยศาสตร์ ในพุทธปรัชญาเถรวาท 2) เพื่อศึกษาประวัติและภูมิหลังของจิตรกรรมฝาผนังสุวัณณสังขชาดก วัดพระสิงห์ วรมหาวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ 3) เพื่อวิเคราะห์พุทธจริยศาสตร์ และคุณค่าในจิตรกรรมฝาผนังสุวัณณสังขชาดก วัดพระสิงห์ วรมหาวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ใช้การวิจัยเอกสาร (Documentary Research) การสัมภาษณ์เชิงลึก (In Depth Interview) และศึกษาจากข้อมูลเอกสารต่างๆ ทั้งในภาพจิตรกรรม รูป สิ่งพิมพ์ เสียงบันทึก ในการรวบรวมข้อมูล

ผลการวิจัยพบว่า 1) พุทธจริยศาสตร์ ในพุทธปรัชญาเถรวาท คือ หลักการ วิธีคิด และวิถีการปฏิบัติ เพื่อพัฒนามนุษย์สู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบตามอุดมคติทางพุทธศาสนาเถรวาท โดยการปฏิบัติตามศีล 5 ทำให้บรรลุจริยศาสตร์ระดับต้น การปฏิบัติตามกุศลกรรมบถ 10 ทำให้บรรลุจริยศาสตร์ระดับกลาง และการปฏิบัติตามมรรค 8 ทำให้บรรลุจริยศาสตร์ระดับสูง ก่อให้เกิดความพฤติกรรมที่ดี สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสงบสุข มีจุดมุ่งหมายสูงสุดการปฏิบัติไปสู่ความหลุดพ้น คือนิพพาน 2) ภาพจิตรกรรมแบบเล่าเรื่อง สุวัณณสังขชาดก วัดพระสิงห์ วรมหาวิหาร สันนิษฐานว่าสร้างสรรค์ขึ้นโดย เจ๊กเส็ง ช่างฝีมือชาวจีน โดยใช้เทคนิคการลงสีฝุ่น ภาพจิตรกรรมนี้ได้รับอิทธิพลศิลปกรรมจากตะวันตก ประยุกต์เข้ากับรูปแบบงานจิตรกรรมไทย และล้านนา จิตรกรได้หยิบยกวรรณกรรมที่นิยมของคนในสังคมยุคนั้น จึงเห็นได้ถึงอิทธิพลทางการเมือง การรับวัฒนธรรมต่างถิ่น การเลื่อนไหลของวัฒนธรรม 3) จิตรกรรมฝาผนังสุวัณณสังขชาดกปรากฏพุทธจริยศาสตร์ทั้ง 3 ระดับ วิถีอัตลักษณ์ล้านนาในเนื้องานสามารถสะท้อนวิถีชีวิตผู้คนในอดีต ทำให้เกิดความรู้สึกร่วมทางมโนธรรมสำนึก และน่าสนใจมากขึ้น สามารถเห็นได้ถึงแนวทางการปฏิบัติตามพุทธจริยศาสตร์ คุณค่าของการปฏิบัติตามพุทธจริยศาสตร์ และโทษของการละเมิดพุทธจริยศาสตร์ สร้างสำนึกทางจริยธรรม เร่งให้มีการพัฒนาชีวิตตามแนวทางพุทธจริยศาสตร์อันจะก่อให้เกิดผลเชิงจริยธรรม และดึงดูดความสนใจธรรมะให้ควบคู่ไปกับงานศิลปะได้

References

วศิน อินทสระ. พุทธจริยศาสตร์ (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : ธรรมดา, 2559.
เนตรนภา แก้วแสงธรรม. การศึกษาหลักธรรมที่ปรากฏในจิตรกรรมฝาผนังที่มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตชาว จังหวัดอุบลราชธานี ศึกษาเฉพาะกรณีวัดทุ่งศรีเมือง วัดบ้านนาควายและวัดหนองมะนาว. วิทยานิพนธ์ปริญญาพุทธศาสตรมหาบัณฑิต, บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราช วิทยาลัย, 2551.
เสนาะ เฑียรทอง. ศึกษาวิเคราะห์หลักพุทธธรรมที่ปรากฏอยู่ในพุทธศิลป์: ศึกษาเฉพาะกรณีของ พระครูอุภัย ภาดาพร (หลวงพ่อขอม) วัดไผ่โรงวัว จังหวัดสุพรรณบุรี. วิทยานิพนธ์ปริญญาพุทธศาสตร มหาบัณฑิต, บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2548.
ดร.พรศิลป์ รัตนชูเดช. (2563, 31 สิงหาคม). อาจารย์ประจำคณะพุทธศิลปกรรมมหาจุฬาลงกรณราช วิทยาลัย. สัมภาษณ์.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2021-12-30