การศึกษาเปรียบเทียบระบบความสัมพันธ์ในเครือญาติกลุ่มชาติพันธุ์ ม้งกับกลุ่มสังฆะในพระพุทธศาสนา

ผู้แต่ง

  • พระอำนาจ พุทฺธวํโส

คำสำคัญ:

การศึกษาเปรียบเทียบ, ความสัมพันธ์

บทคัดย่อ

การศึกษาวิจัย เรื่อง ìการศึกษาเปรียบเทียบระบบความสัมพันธ์ในเครือญาติกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง กับกลุ่มสังฆะในพระพุทธศาสนาî มีความมุ่งหมายเพื่อศึกษาระบบความสัมพันธ์ในเครือญาติกลุ่มชาติพันธุ์ม้งกับกลุ่มสังฆะในพระพุทธศาสนา  มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาระบบความสัมพันธ์ในเครือญาติกลุ่มชาติพันธุ์ม้งกับระบบความสัมพันธ์ของสังฆะในพระพุทธศาสนา และเปรียบเทียบระบบความสัมพันธ์ของทั้งสองกลุ่ม ผลการศึกษาพบว่า

ระบบความสัมพันธ์ทางเครือญาติของกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง เป็นกระบวนการจัดระเบียบทางสังคมโดยใช้วิธีการทางความเชื่อ ขนบธรรมเนียม ประเพณี พิธีกรรมและวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือในการสร้างความสัมพันธ์ของสมาชิกภายในกลุ่ม ชาวม้งให้ความสำคัญกับระบบการสืบเชื้อสายผ่านสายโลหิต โดยการสืบเชื้อสายทางบิดาเป็นหลัก การนับความสัมพันธ์ทางเครือญาติจึงกระทำโดยการสืบย้อนกลับไปยังพ่อและปู่ขึ้นไปตามลำดับ ดังนั้น ผู้ชายจะสืบแซ่สกุลของพ่อ ผู้หญิงจะเปลี่ยนไปใช้แซ่สกุลของสามีหลังจากแต่งงาน ดังนั้นผู้ชายชาวม้งทุกคนในแซ่ตระกูลเดียวกันถือเป็นพี่น้องกัน ความสัมพันธ์ทางเครือญาติของชาวม้ง นอกจากจะเป็นแบบระบบสายโลหิตโดยการสืบทอดโดยตรงจากบิดามารดาและโดยการแต่งงานแล้ว ยังเป็นเรื่องของการสืบทอดผ่านระบบวัฒนธรรมของความเป็นอัตลักษณ์ทางเครือญาติ ที่กลุ่มผู้นำและผู้นำทางพิธีกรรมสร้างขึ้นมา การสถาปนาความสัมพันธ์ทางเครือญาติ เป็นการหล่อหลอมคนในสังคมให้มีการช่วยเหลือและพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน สร้างพลังความสามัคคี และเพื่อควบคุมพฤติกรรมเบี่ยงเบนของสมาชิกในสังคมให้เป็นกลุ่มชนที่มีอุดมคติเดียวกัน (Imagined Community) อีกทั้งยังเป็นการความเข้มแข็งและความเป็นเอกภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง

ระบบความสัมพันธ์ของพระภิกษุสงฆ์ มีกรอบของพระธรรมวินัยเป็นบทบัญญัติในการอยู่ร่วมกันของสมาชิกในกลุ่ม สังคมของสังฆะมีวิวัฒนาการไปตามลำดับ โดยมีปัจจัยอยู่ที่การขยายตัวของบุคคลที่เข้ามาในสังคมสงฆ์เป็นหลัก เมื่อมีสมาชิกเพิ่มเข้ามาในองค์กรสงฆ์มากขึ้น พระพุทธองค์ทรงบัญญัติพระวินัยขึ้นมาเพื่อเป็นข้อกำหนดหรือกฎเกณฑ์ของการอยู่ร่วมกันอย่างมีแบบแผน และเอื้อต่อการประพฤติปฏิบัติของสมาชิกให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งเป็นการจัดระบบความสัมพันธ์ตามโครงสร้างพื้นฐานของการรวมกลุ่มกันทางสังคมของมนุษย์ ในเบื้องต้นพระพุทธองค์ทรงบัญญัติกฎเกณฑ์ทางสังคม เพื่อมุ่งหวังให้สมาชิกภายในสังฆะมีหลักการดำเนินชีวิตที่เหมาะสม คือ การศึกษาอบรม การเลี้ยงชีพ การปกครอง วิธีดำเนินกิจกรรมต่างๆ (สังฆกรรม) เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ได้รับการฝึกหัดอบรมเจริญก้าวหน้าและเข้าถึงจุดหมายของพระศาสนา โดยมีพระวินัย (ศีล)ข้อประพฤติ และพระธรรม(คำสอน)หลักการปฏิบัติ เป็นหลักการในการดำเนินชีวิต กระบวนการทางสังคมของสงฆ์ให้ความสำคัญถึงสิทธิของการมีส่วนร่วมในกิจกรรมและผลประโยชน์ต่าง ๆ ของกลุ่ม   โดยทั่วถึงและเท่าเทียมกัน มีความรู้สึกที่ดีต่อกัน เคารพในคุณค่าของกันและกัน อยู่ด้วยความกลมกลืนสมานฉันท์เป็นระเบียบเรียบร้อย มีความสามัคคี  ปฏิบัติต่อกันด้วยประโยชน์เกื้อกูลเป็นหลัก มีอิสรภาพทั้งทางกาย ทางวาจา และความคิด ซึ่งถือเป็นกลุ่มสังคมที่อุดมไปด้วยธรรมในการครองชีวิต

จากการศึกษาเปรียบเทียบระบบความสัมพันธ์ของทั้งสองกลุ่มสังคม คือ กลุ่มชาติพันธุ์ม้งกับกลุ่มสังฆะในพระพุทธศาสนา เมื่อนำมาศึกษาเปรียบเทียบกันแล้ว ทำให้ทราบถึงแนวคิดทางทฤษฎีและวิธีการปฏิบัติของระบบความสัมพันธ์ของทั้งสองกลุ่ม ดังนี้ ระบบความสัมพันธ์ของทั้งสองกลุ่มสังคม มีสภาพแวดล้อมทางสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน อีกทั้งปัจจัยที่ทำให้เกิดการรวมกลุ่ม กระบวนการทางโครงสร้างของสังคมก็มีความแตกต่างกัน กล่าวคือ แนวคิดทฤษฎีและรูปแบบการปฏิบัติของชาวม้ง ให้ความสำคัญอยู่ที่ความเชื่อ ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี และพิธีกรรมเป็นสำคัญ โดยผ่านกระบวนการสืบทอดต่อมาจากบรรพบุรุษ เป็นวัฒนธรรมของกลุ่มตนเอง ส่วนกลุ่มของสังฆะ ให้ความสำคัญที่บทบัญญัติที่เป็นพระวินัย ซึ่งถือเป็นข้อกำหนดกฎเกณฑ์ในการบังคับใช้กับสมาชิกภายในกลุ่ม และถือเป็นธรรมเนียมหรือวัฒนธรรมการปฏิบัติของกลุ่ม ทั้งนี้จุดมุ่งหมายของความสัมพันธ์ทั้งสองกลุ่มสังคมมุ่งถึงการสร้างสันติภาพ ภราดรภาพ และเอกภาพให้กับสมาชิกทุกคนในสังคมที่ตนอาศัยอยู่

References

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2539) พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราช วิทยาลัย. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

ชมรมบริการวิชาการ สถาบันวิจัยชาวเขา. (2541) ชาวเขา : ความเข้าใจกับชนเผ่าต่างวัฒนธรรม. พิมพ์ครั้ง ที่ 2. เชียงใหม่: นันทกานต์ กราฟฟิค/การพิมพ์.

ณรงค์ เส็งประชา. (2541). มานุษยวิทยาประยุกต์ในการพัฒนาชุมชน. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์.

ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี. (2546). อัตลักษณ์ ชาติพันธุ์ และความเป็นชายขอบ. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์แปลน พริ้นติ้ง จำกัด.

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต). (2548). พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม. พิมพ์ครั้งที่ 14. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.).

พระเทพเทวี (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). (2532). พุทธศาสนากับสังคมไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์ มูลนิธิโกมลคีมทอ.

พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต). (2546). พุทธธรรม ฉบับขยายความ. พิมพ์ครั้งที่ 11. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

พระธรรมปิฎก (ป.อ. ประยุตฺโต). (2542). มองสันติภาพโลก ผ่านภูมิหลังอารยธรรม โลกาภิวัตน์. พิมพ์ครั้ง ที่ 2. กรุงเทพมหานคร : มูลนิธิพุทธธรรม.

วิรัช ถิรพันธุ์เมธี. (2547). พุทธปรัชญาการปกครอง. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์ ดวงแก้ว.

สมภาร พรมทา. (2542). พุทธปรัชญา มนุษย์ สังคม และปัญหาจริยธรรม. กรุงเทพมหานคร : จุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย.

สถาบันวิจัยชาวเขา. (2535). ชาวเขาในประเทศไทย. กรุงเทพมหานคร: กรมประชาสงเคราะห์.

สุนทรี พรหมเมศ. (2544). ชาวเขาในประเทศไทย. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพมหานคร :สำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-08-15