ปัจจัยที่มีผลต่อบทบาทของพระสงฆ์ในการส่งเสริมสุขภาพด้วยสมุนไพร : กรณีศึกษาพระสงฆ์อำเภอเมืองเชียงใหม่

ผู้แต่ง

  • นิตยา หวงหิรัณย์

คำสำคัญ:

พระสงฆ์, สุขภาพ

บทคัดย่อ

งานศึกษาวิจัยเรื่อง ìปัจจัยที่มีต่อบทบาทของพระสงฆ์ในการส่งเสริมสุขภาพด้วยสมุนไพร: กรณีศึกษาพระสงฆ์อำเภอเมืองเชียงใหม่î ครั้งนี้ มุ่งศึกษาถึงปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อบทบาทของพระสงฆ์ในการส่งเสริมสุขภาพด้วยสมุนไพร ในอำเภอเมืองจังหวัดเชียงใหม่

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ทำการเก็บข้อมูลโดยวิธีการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก และศึกษาเอกสารต่างๆ เกี่ยวกับ (1) บทบาทของพระสงฆ์ในการรักษาโรคให้กับชุมชน ซึ่งบทบาทนี้ได้หายไประยะหนึ่ง (2) บทบาทดั้งเดิมที่พระสงฆ์เคยเป็นผู้นำชุมชน ซึ่งบัดนี้ได้ลดลงอย่างมาก และผู้รับการรักษาพยาบาลจากพระสงฆ์ได้สูญหายไป เพราะองค์กรสงฆ์มีพระวินัยและภาครัฐได้ออกกฎหมายจำกัดผู้รับการรักษา (3) บทบาทที่มีเด่นชัดมากขึ้นคือบทบาทด้านการพัฒนาชุมชน โดยให้ความรู้ต่างๆ ด้านพุทธศาสนา ให้ธรรมะ ให้การศึกษาแก่ชุมชนมากขึ้น (4) กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยเปิดกว้างขึ้น องค์กรของสงฆ์ก็สนับสนุนให้มีโครงการสวนสมุนไพรพุทธชาด เป็นการเพิ่มบทบาทใหม่ให้พระสงฆ์ คือ พระสงฆ์ได้พัฒนาตนเองและเรียนรู้ข้อมูล ให้ความรู้ด้านสมุนไพรแก่ชุมชน เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนดูแลสุขภาพด้วยตนเอง

ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อบทบาทของพระสงฆ์โดยเฉพาะในอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ในด้านลบคือ ภาครัฐให้การพัฒนาและส่งเสริมการแพทย์แผนปัจจุบันอย่างเต็มที่ แต่ในขณะเดียวกันไม่ได้ให้ความสำคัญแก่หมอพระหมอสมุนไพรที่เคยให้การรักษาโรคแก่ประชาชนมาตั้งแต่สมัยอดีต ทั้งยังออกกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคจำกัดสิทธิหมอสมุนไพรอีกด้วย และองค์กรสงฆ์เองก็มีพระวินัยจำกัดหน้าที่ของพระสงฆ์ในด้านนี้อยู่ ซึ่งสอดคล้องกับพระราชบัญญัติของภาครัฐที่ควบคุมประชากรในองค์กรสงฆ์เพื่อมิให้ทำการรักษาโรคเหมือนในอดีต เป็นเหตุให้การแพทย์แผนไทยหรือการรักษาพยาบาลโดยหมอยากลางบ้านต้องหยุดชะงักไประยะหนึ่ง เพราะถือว่าเป็นหมอเถื่อน

อย่างไรก็ตาม บทบาทเดิมของพระสงฆ์ในการใช้สมุนไพรรักษาโรคให้กับประชาชนที่ได้หายไประยะหนึ่งนั้น บัดนี้พระสงฆ์ได้กลับมาส่งเสริมสุขภาพด้วยสมุนไพร เนื่องจากภาครัฐได้ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นของยาสมุนไพร จึงเปิดโอกาสให้พระสงฆ์ได้ศึกษาเพิ่มเติมและพัฒนาตนเอง และมีส่วนร่วมในการให้ความรู้ด้านการดูแลสุขภาพแก่ประชาชน ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ เกี่ยวกับการพัฒนาภูมิปัญญาไท สุขภาพวิถีไทปี พ.ศ. 2550 - 2554  ที่มีวัตถุประสงค์ให้สุขภาพวิถีไทเป็นหนึ่งระบบหลักของการดูแลสุขภาพของประเทศ พร้อมกันนั้นก็ส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นสร้างศักยภาพในการอนุรักษ์ พัฒนา คุ้มครองภูมิปัญญาไทย และผลักดันการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก ให้เป็นระบบบริการสุขภาพหลักของประเทศคู่ขนานกับการแพทย์แผนปัจจุบัน เพื่อเสริมการใช้ยาสมัยใหม่และ/หรือใช้ยาสมุนไพรรักษาโรคบางอย่างแทนยาสมัยใหม่ได้

References

ยศ สันตสมบัติ และวิฑูรย์ อ่อนชมจันทร์. (2537). ศักยภาพของภูมิปัญญาพื้นบ้านด้านการดูแลรักษาสุขภาพ กรณีศึกษา : การรักษากระดูกหักของหมอเมืองและการดุแลครรภ์ของชาวอาข่า จังหวัดเชียงราย. พิมพ์โดยสถาบันราชภัฎเชียงราย.

พระครูวิทิตศาสนาทร. (2553). รองเจ้าคณะอำเภอเมืองเชียงใหม่. สัมภาษณ์. 16 มีนาคม 2553.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-07-19