ศึกษาเปรียบเทียบทฤษฎีวิวัฒนาการของมนุษย์และจักรวาล ในพุทธปรัชญาเถรวาทกับปรัชญาสางขยะ

ผู้แต่ง

  • พระยงยุทธ ปทุโม

คำสำคัญ:

ศึกษาเปรียบเทียบ, มนุษย์, จักรวาล

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์นี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาเปรียบเทียบทฤษฎีวิวัฒนาการของมนุษย์และจักรวาลในพุทธปรัชญาเถรวาทกับปรัชญาสางขยะ เป็นการศึกษาทรรศนะทางด้านอภิปรัชญาที่สามารถนำพาไปสู่ความรู้ถึงองค์ประกอบและกระบวนการวิวัฒนาการของสรรพสิ่งในเอกภพได้ โดยผู้วิจัยได้แบ่งประเด็นที่ต้องการศึกษา คือ ทฤษฎีวิวัฒนาการ องค์ประกอบ กระบวนการวิวัฒนาการ การเกิดขึ้น ตั้งอยู่และการเสื่อมสลาย แล้วเปรียบเทียบว่ามีความเหมือนและความแตกต่างกันอย่างไร โดยการศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงเอกสารมีผลสรุปการวิจัยดังนี้

พุทธปรัชญาเถรวาทได้กล่าวถึงทฤษฎีวิวัฒนาการของสรรพสิ่งในเอกภพว่าเป็นการอิงอาศัยซึ่งกันและกันเกิดขึ้น เปลี่ยนแปลง และ เสื่อมสลาย ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นมาเองโดยปราศจากเหตุ และเชื่อมโยงไปถึงผล ทั้งที่เป็นกระบวนการเกิดและกระบวนการเสื่อมสลาย องค์ประกอบโดยรวมของมนุษย์และจักรวาลแบ่งออกเป็น  ๒ ส่วน คือ รูปธรรม และ นามธรรม หรือ วิญญาณ และ วัตถุ จักรวาลด้านวัตถุมีองค์ประกอบที่ผสมกันเกิดขึ้นด้วยธาตุพื้นฐาน ๔ ประเภท คือ ดิน น้ำ ไฟ และลม การวิวัฒนาการของสรรพสิ่งในเอกภพเป็นการเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในรูปแบบของความเป็นเหตุและผล การเกิดขึ้นของเอกภพที่เป็นต้นกำเนิดเริ่มแรกสุดไม่มีการกล่าวถึง แต่การก่อตัวของเอกภพในครั้งใหม่ด้านวัตถุ เกิดขึ้นจากการจุติของอาภัสสรพรหมเข้ามาอยู่ในอาณาเขตอันหาที่สุดไม่ได้ แล้วได้เห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็น เกิดความสงสัยขึ้น ลงมือกระทำ เกิดผลของการกระทำ จนมีการวิวัฒนาการของร่างกาย และ สรรพสิ่งในเอกภพด้านวัตถุก็มีการวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งมีความสมบูรณ์ และ เสื่อมสลายไปในที่สุดไม่มีอะไรมั่นคงแน่นอน

ปรัชญาสางขยะได้กล่าวถึงทฤษฎีวิวัฒนาการของมนุษย์และจักรวาลว่า สรรพสิ่งมีอยู่แล้วในสิ่งที่เป็นเหตุของสิ่งนั้น ๆ นั่นคือ ผลเป็นสิ่งที่เกิดมาจากเหตุ หากไม่มีเหตุแล้ว ผลยอมไม่มี สิ่งที่ปรากฏ คือ ผลของเหตุ หรือกล่าวได้ว่า เหตุและผลเป็นสิ่งเดียวกัน สิ่งต่าง ๆ ในเอกภพ และองค์ประกอบของมนุษย์แบ่งได้ ๒ ส่วน คือ ปุรุษะ และ ประกฤติ หรือ วิญญาณ และวัตถุ สิ่งเหล่านี้มีอยู่ เป็นอยู่อย่างอมตะ แต่สรรพสิ่งที่เกิดจากประกฤติเป็นสิ่งที่เสื่อมสลายได้ ส่วนปุรุษะเป็นวิญญาณบริสุทธิ์ มีจำนวนมาก ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่มีสิ่งใดเกิดมาจากปุรุษะ การวิวัฒนาการของสรรพสิ่งด้านวัตถุในเอกภพเป็นการเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในรูปแบบของการคลี่คลายออกมาจากประกฤติ โดยเริ่มที่ พุทธิ อหังการ ตันมาตระ มนัส ญาเนนทรีย์ กรรเมนทรีย์ และมหาภูติ การเกิดขึ้นของเอกภพที่จุดเริ่มต้นไม่มีปรากฏ แต่มีการอธิบายถึงการเกิดขึ้นจากสิ่งที่เรียกว่า กายละเอียด (Subtle body) ซึ่งอยู่ในอาณาเขตที่ไม่มีที่สุด โคจรไปจนกระทำมีความรู้เกิดขึ้น จึงหยุดโคจร แล้วแสวงหาความเพลิดเพลิน โดยสัมพันธ์กับประกฤติ จากนั้นมีการวิวัฒนาการออกมาเป็นขั้นตอนจนกลายมาเป็นสรรพสิ่งในเอกภพ มีการเปลี่ยนแปลงและที่สุดของสรรพสิ่งมีการเสื่อมสลายกลับไปหาแหล่งกำเนิดเดิม คือ ความเป็น ปุรุษะ และ ประกฤติ ที่มีสภาพเป็นอมตะ

ผลสรุปการเปรียบเทียบแนวคิดทฤษฎีวิวัฒนาการของทั้งสองสำนัก มีหลักทฤษฎีที่คล้ายคลึงกัน คือ ความเป็นเหตุ และ ผลในการอิงอาศัยกันและกันเกิดขึ้น องค์ประกอบโดยรวมของสรรพสิ่งในเอกภพมี ๒ ประเภทเช่นเดียวกัน มีการวิวัฒนาการ แบบค่อยเป็นค่อยไปเหมือนกัน ไม่มีการอธิบายถึงการเกิดขึ้นในจุดเริ่มต้นของจักรวาลเหมือนกัน มีการเปลี่ยนแปลง และมีการเสื่อมสลายเหมือนกัน ความแตกต่าง คือ ในพุทธปรัชญาเถรวาทกล่าวว่าที่สุดของสรรพสิ่งในเอกภพไม่ว่าจะเป็น วิญญาณและวัตถุ เป็นสิ่งที่เป็นอนัตตา คือ ไม่มีตัวตนที่แน่นอน แต่ปรัชญาสางขยะได้กล่าวว่าที่สุดของสรรพสิ่งมีแหล่งกำเนิดมาจากสิ่งที่เป็นอมตะ ไม่มีการเสื่อมสลาย เป็นสิ่งที่เป็นนิรันดร

References

ปรุตม์ บุญศรีตัน. (2552). พุทธอภิปรัชญา. เชียงใหม่ : สำนักพิมพ์มรดกล้านนา.

ประยงค์ แสนบุราณ. (2547). ปรัชญาอินเดีย. กรุงเทพมหานคร : โอ.เอส.พริ้นติ้ง เฮ้าส์.

ทองหล่อ วงษ์ธรรมา. (2538). ปรัชญาตะวันออก. กรุงเทพมหานคร : โอ.เอส.พริ้นติ้ง เฮ้าส์.

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2539). พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราช
วิทยาลัย.กรุงเทพมหานคร :โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

สุนทร ณ รังสี. (2537). ปรัชญาอินเดีย : ประวัติและลัทธิ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร: จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย.

โสภณ ศรีกฤษดาพร. (2527). “การศึกษาวิเคราะห์ความคิดเรื่องกายและจิตใจพุทธปรัชญา”.วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต. บัณฑิตวิทยาลัย : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

Horace Hayman Wilson, M.A.F.R.S., Translated to English. (1887). The Sankhya Karika by Íswara Krishna. Bombay: Printed at the Subodha – Prakash. Press. T.G.

Mainkar. (1964). THE SĀṀKHYAKĀRIKĀ OF ĪŚVARAKŖŞŅA. Translated into English and with Notes. ( Poona - 2 India ): Oriental Book Agency.

William Montgomery MC. Govern. (1976). A Manual of Buddhist Philosophy. Luck now: Oriental Re printers.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-07-15