จริยธรรมการตีพิมพ์
จริยธรรมการตีพิมพ์ (Publication Ethics)
กองบรรณาธิการวารสารการจัดการทางการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้กำหนดแนวทาง วิธีปฏิบัติที่ดี เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางและมาตรฐานทางด้านจริยธรรมการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิชาการไว้สำหรับการดำเนินงานของวารสารและผู้เกี่ยวข้อง โดยได้กำหนดบทบาทหน้าที่สำหรับบุคคล 3 กลุ่ม ที่อยู่ในหลักเกณฑ์ของการเผยแพร่วารสาร ได้แก่ บรรณาธิการวารสาร (editor) ผู้ประเมินบทความ (reviewer) และผู้เขียนบทความ (author) ได้ศึกษา ทำความเข้าใจ และปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าว ดังนี้
บทบาทและหน้าที่ของบรรณาธิการวารสาร (Duties of Editor)
- บรรณาธิการ มีหน้าที่พิจารณาและตรวจสอบบทความที่ส่งมาเพื่อขอรับการตีพิมพ์กับวารสารทุกบทความ โดยพิจารณาเนื้อหาที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของวารสาร ตรวจสอบคุณภาพบทความในกระบวนการประเมิน และคงไว้ซึ่งสิทธิ์ในการตัดสินขั้นสุดท้ายสำหรับการพิจารณาตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร
- บรรณาธิการพึงรักษาความโปร่งใสของการวิจัยด้วยมาตรฐานทางจริยธรรม และพร้อมเพิกถอนการตีพิมพ์หรือแก้ไขข้อผิดพลาด หากได้รับการแจ้งหรือร้องขอจากผู้นิพนธ์
- บรรณาธิการประเมินบทความต้นฉบับบนพื้นฐานคุณค่าเชิงวิชาการ และปราศจากผลประโยชน์ทางการค้าหรือผลประโยชน์ส่วนตน
- บรรณาธิการดำเนินการตัดสินใจพิจารณาต้นฉบับบทความอย่างเป็นกลาง เพื่อให้ได้เนื้อหาที่มีคุณภาพ โดยปราศจากอคติใด ๆ โดยพิจารณาจากความสำคัญ ความใหม่ และความชัดเจนของบทความวิจัย ตลอดจนความเกี่ยวข้องกับขอบเขตของวารสาร
- บรรณาธิการไม่เผยแพร่ข้อมูลใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบทความที่ส่งเข้ามารับการพิจารณาก่อนการตีพิมพ์
- บรรณาธิการดำเนินการทุกอย่างเพื่อให้มั่นใจในคุณภาพของบทความที่ตีพิมพ์ เพื่อรับรองคุณภาพของงานวิจัยที่ตีพิมพ์
- บรรณาธิการจะดำเนินการตรวจสอบโดยทันทีและอย่างละเอียด หากมีข้อสงสัยการประพฤติผิดในการวิจัยตามอำนาจหน้าที่อย่างเหมาะสม
บทบาทและหน้าที่ของผู้ประเมินบทความ (Duties of Reviewers)
- ผู้ประเมินดำเนินการประเมินบทความในสาขาวิชาที่ตนมีความเชี่ยวชาญ โดยเน้นที่คุณภาพของบทความเป็นหลัก และพิจารณาอย่างละเอียดเชิงสร้างสรรค์ ภายใต้หลักการและเหตุผลทางวิชาการ โดยปราศจากอคติหรือความคิดเห็นส่วนตัว และไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้นิพนธ์ ทั้งนี้ ผู้ประเมินต้องแจ้งผลการประเมินภายในระยะเวลาที่บรรณาธิการกำหนด
- ผู้ประเมินทำการประเมินบทความต้นฉบับที่ได้รับ โดยพิจารณาความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ คุณค่าทางวิชาการ ความสมบูรณ์ของเนื้อหาและโครงสร้างภาษา ความชัดเจนของสมมติฐาน/วัตถุประสงค์ ความชัดเจนของการนำเสนอและการจัดระเบียบบทความ ความถูกต้องทางวิชาการ การอภิปรายผล และการอ้างอิงที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ รวมถึงให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อคุณภาพของบทความ
- ผู้ประเมินไม่ควรเปิดเผยข้อมูลใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบทความที่ส่งมารับการพิจารณาก่อนการตีพิมพ์
- ผู้ประเมินต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้นิพนธ์หรือเหตุผลอื่น ๆ ที่ทำให้ไม่สามารถให้ข้อคิดเห็นอย่างอิสระได้
- ผู้ประเมินต้องแจ้งบรรณาธิการเมื่อพบหลักฐานการกระทำผิดใดๆ เกี่ยวกับจริยธรรมการวิจัยในบทความที่ทำการประเมิน
บทบาทและหน้าที่ของผู้เขียน (Duties of Authors)
- ผลงานของผู้เขียนต้องเป็นผลงานที่ไม่เคยตีพิมพ์ หรืออยู่ระหว่างการตีพิมพ์ที่ใดมาก่อน
- ผู้เขียนต้องรับรองว่าผลงานที่เขียนขึ้นได้มาจากข้อเท็จจริงจากการศึกษา ไม่บิดเบือนข้อมูลและไม่มีข้อมูลที่เป็นเท็จ
- ผู้เขียนต้องไม่คัดลอกผลงานของผู้อื่น และต้องมีการอ้างอิงทุกครั้งเมื่อนำผลงานของผู้อื่นมานำเสนอหรือ อ้างอิงในเนื้อหาบทความของตนเอง
- ในกรณีที่บรรณาธิการทราบว่าผู้เขียนคัดลอกผลงาน หรือ นำส่งผลงานซ้อนกับวารสารฉบับอื่น จะดำเนินการยกเลิกและถอดถอนบทความดังกล่าว พร้อมดำเนินการแจ้งผู้เกี่ยวข้องและ / หรือ หน่วยงานต้นสังกัด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของกรณี