ผลการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ตามแนวสืบสอบร่วมกับการโต้แย้งเชิงวิทยาศาสตร์ที่มีต่อมโนทัศน์และความสามารถในการให้เหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2

Main Article Content

ศุภชัย ฉิมมารักษ์

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบมโนทัศน์ทางวิทยาศาสตร์ และความสามารถในการให้เหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์ ก่อนเรียนและหลังเรียน และเพื่อศึกษาพฤติกรรมการเรียนวิทยาศาสตร์ของนักเรียนระหว่างการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ตามแนวสืบสอบร่วมกับการโต้แย้งเชิงวิทยาศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วย 3 ขั้น คือ ขั้นทำงานร่วมกัน ขั้นแลกเปลี่ยนความคิด และขั้นประยุกต์ใช้ กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ปีการศึกษา 2564 โรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งหนึ่ง จังหวัดชลบุรี จำนวน 40 คน ซึ่งได้จากการสุ่มแบบกลุ่ม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แผนการเรียนการสอน เรื่อง งานและพลังงาน แบบทดสอบวัดมโนทัศน์ทางวิทยาศาสตร์ แบบทดสอบการให้เหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์ และแบบสังเกตพฤติกรรมการเรียนวิทยาศาสตร์ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติทดสอบค่า t-test แบบ Dependent sample


ผลการวิจัยสรุปได้ว่า นักเรียนมีมโนทัศน์ทางวิทยาศาสตร์และความสามารถในการให้เหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์ หลังเรียนด้วยการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ตามแนวสืบสอบร่วมกับการโต้แย้งเชิงวิทยาศาสตร์ สูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และ นักเรียนมีพฤติกรรมที่ส่งเสริมการเรียนวิทยาศาสตร์ในระหว่างการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ตามแนวสืบสอบร่วมกับการโต้แย้งเชิงวิทยาศาสตร์ ภาพรวมอยู่ในระดับดี โดยนักเรียนแสดงพฤติกรรมส่งเสริมการเรียนวิทยาศาสตร์ในขั้นประยุกต์ใช้ มากที่สุด รองลงมา คือ ขั้นแลกเปลี่ยนความคิด และขั้นทำงานร่วมกัน ตามลำดับ

Article Details

บท
บทความวิจัย (Research Articles)