ทัศนคติและความคาดหวังที่มีต่อการเรียนการสอนผ่านสื่อออนไลน์ของอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา

Main Article Content

พัณณิตา แก้วเลื่อนมา

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาทัศนคติ พฤติกรรม แนวโน้มพฤติกรรมและความคาดหวังที่มีต่อการเรียนการสอนผ่านสื่อออนไลน์ของอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา 2) เพื่อศึกษาความแตกต่างระหว่างลักษณะทางประชากรกับทัศนคติที่มีต่อการเรียนการสอนผ่านสื่อออนไลน์ 3) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างทัศนคติกับพฤติกรรมการเรียนการสอนผ่านสื่อออนไลน์ 4) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างทัศนคติกับแนวโน้มพฤติกรรมการเรียนการสอนผ่านสื่อออนไลน์ 5) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมกับความคาดหวังที่มีต่อการเรียนการสอนผ่านสื่อออนไลน์ โดยเป็นการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) ใช้รูปแบบเชิงสำรวจ (Survey Research) ซึ่งการศึกษาวิจัยในครั้งนี้กำหนดกลุ่มตัวอย่างเป็นอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาของภาครัฐ รวมถึงสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ จำนวน 220 คน และอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาเอกชน จำนวน 180 คน และจะต้องเคยใช้สื่อออนไลน์เพื่อการเรียนการสอน โดยผลการวิจัยพบว่า อาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษามีทัศนคติระดับปานกลางต่อการเรียนการสอนผ่านสื่อออนไลน์ โดยมีค่าเฉลี่ยทัศนคติต่อด้านระบบบริหารจัดการรายวิชามากที่สุด ในประเด็นการเรียนการสอนผ่านสื่อออนไลน์ทำให้เกิดการเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา (ค่าเฉลี่ย 4.20) หมายถึงมีทัศนคติเชิงบวก และมีค่าเฉลี่ยทัศนคติต่อด้านหลักสูตร/เนื้อหาวิชาน้อยที่สุด ในประเด็นการเรียนการสอนผ่านสื่อออนไลน์ทำให้ผู้เรียนมีความตั้งใจและสนใจเรียนเพิ่มขึ้น (ค่าเฉลี่ย 2.27) หมายถึงมีทัศนคติเชิงลบ ขณะที่พฤติกรรมการเรียนการสอนผ่านสื่อออนไลน์ พบว่า อาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาใช้รูปแบบการเรียนการสอนผ่านสื่อออนไลน์แบบสอนสด (Live Streaming) ซึ่งเรียนรู้การใช้การเรียนการสอนผ่านสื่อออนไลน์จากการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองมากที่สุด โดยให้ความสำคัญมากกับวัตถุประสงค์ในการใช้การเรียนการสอนผ่านสื่อออนไลน์ (ค่าเฉลี่ย 3.76)ทั้งนี้ยังพบว่ามีการใช้โปรแกรม Zoom สำหรับสื่อสารและสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนมากที่สุด และพบว่าอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษามีความตั้งใจมากที่จะใช้การเรียนการสอนผ่านสื่อออนไลน์หากเกิดภาวะวิกฤตต่างๆ ขึ้นอีก (ค่าเฉลี่ย 4.34) นอกจากนี้ยังพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีความคาดหวังมากที่สุดในด้านสนับสนุนการสอน โดยคาดหวังให้สถาบันมีการสนับสนุนอุปกรณ์ สถานที่ รวมไปถึงมีหน่วยงานที่คอยสนับสนุน ผลิต ให้คำปรึกษา และช่วยเหลืออาจารย์เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ อีกทั้งยังพบว่า อาจารย์ที่มีอายุ ระดับการศึกษา สถาบันการศึกษาที่สังกัด กลุ่มสาขาวิชาที่สอน ลักษณะรายวิชาที่สอน และประสบการณ์การสอนผ่านสื่อออนไลน์แตกต่างกัน มีทัศนคติต่อการเรียนการสอนผ่านสื่อออนไลน์แตกต่างกัน ทั้งนี้ ทัศนคติต่อการเรียนการสอนผ่านสื่อออนไลน์มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมและแนวโน้มพฤติกรรมการเรียนการสอนผ่านสื่อออนไลน์ และพฤติกรรมการเรียนการสอนผ่านสื่อออนไลน์มีความสัมพันธ์กับความคาดหวังต่อการเรียนการสอนผ่านสื่อออนไลน์

Article Details

บท
บทความวิจัย (Research Articles)