การสอนภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากล: กระบวนทัศน์ในการสอนภาษาอังกฤษที่เหมาะสมกับบริบทของไทย
Main Article Content
บทคัดย่อ
บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อนำเสนอสถานภาพของภาษาอังกฤษในยุคโลกาภิวัฒน์ ปัจจุบันนี้ภาษาอังกฤษ ได้เปลี่ยนสถานภาพเป็น “ภาษาสากล” หรือ “ภาษาโลก” เนื่องจากการใช้ภาษาอังกฤษนั้นได้แพร่หลายไปทั่วโลก ไม่จำกัดเฉพาะในกลุ่มของเจ้าของภาษาเท่านั้น กระบวนทัศน์การเรียนการสอนภาษาอังกฤษที่ใช้ในประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างประเทศยังยึดติดกับมาตรฐานและบรรทัดฐานของเจ้าของภาษาอย่างเคร่งครัด ด้วยเหตุดังกล่าวจึงทำให้ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของผู้เรียนชาวไทยไม่เป็นที่น่าพอใจ ไม่สามารถเพิ่มระดับความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทั้งในระดับชาติและนานาชาติได้ ดังนั้นกระบวนทัศน์แนวใหม่ในการสอนภาษาอังกฤษ ที่เรียกว่า “การสอนภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากล” จึงจะเข้ามาแทนที่การสอนภาษาอังกฤษตามกระบวนทัศน์เดิม เนื่องจากแนวคิดหลักของ กระบวนทัศน์ใหม่นี้สอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศไทยมากกว่า โดยที่กระบวนทัศน์ดังกล่าวลดค่านิยมของความเป็นเจ้าของภาษาลง และส่งเสริมความมั่นใจของผู้พูดภาษาอังกฤษที่ไม่ใช่เจ้าของภาษา ในตอนท้ายของบทความนี้ได้เสนอแนะให้กระบวนทัศน์นี้ ได้รับการบรรจุในหลักสูตรการสอนภาษาอังกฤษของคณะศึกษาศาสตร์/ครุศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยของประเทศไทย เพื่อสนับสนุนให้ครูผู้สอน และผู้เรียนภาษาอังกฤษชาวไทยใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพและมั่นใจยิ่งขึ้น