การสื่อสารด้านสภาพสังคมจากกาพย์พระไชยสุริยา
Main Article Content
บทคัดย่อ
งานวิจัยเรื่องการสื่อสารด้านสภาพสังคมจากกาพย์พระไชยสุริยามีวัตถุประสงค์ของการวิจัยเพื่อวิเคราะห์กาพย์พระไชยสุริยาตามแบบจำลองการสื่อสารของ เดวิด เค เบอร์โล (David K. Berlo) และเพื่อวิเคราะห์บริบททางสังคมที่ปรากฏจากกาพย์พระไชยสุริยา ผลการวิจัยพบว่าการสื่อสารด้านสภาพสังคมจากกาพย์พระไชยสุริยาตามแบบจำลองการสื่อสารของ เดวิด เค เบอร์โล มีความสัมพันธ์กันดังนี้
ผู้ส่งสารคือสุนทรภู่ซึ่งแต่งกาพย์พระไชยสุริยาชำนาญด้านต่าง ๆ มีวัตถุประสงค์ของการแต่งเพื่อแสดงความสามารถด้านการแต่งกาพย์ เพื่อเป็นแบบเรียนมาตราตัวสะกดและเพื่อวิพากษ์วิจารณ์สภาพสังคมสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งสัมพันธ์กับผู้รับสารในยุคสมัยต่าง ๆ จนถึงปัจจุบัน สาร ประกอบด้วยปัจจัย ๓ ประการ ได้แก่ ๑. เนื้อหาของกาพย์พระไชยสุริยา ๒. รหัสของสารคือกลุ่มของสัญลักษณ์ที่ถูกสร้างขึ้นในลักษณะต้องมีความหมายต่อคน โดยมีองค์ประกอบทำหน้าที่เป็นคำศัพท์และมีกระบวนการหรือโครงสร้างที่รวมส่วนประกอบเข้าด้วยกันอย่างมีความหมาย ซึ่งรหัสในกาพย์พระไชยสุริยาคือสภาพสังคมสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ปรากฏจากกาพย์พระไชยสุริยา และ ๓. การแสดงสารมีบทประณามพจน์และการถ่อมตัวของกวี รวมถึงการเรียนคำตามมาตราตัวสะกด สื่อหรือช่องทางการสื่อสาร วรรณคดีเรื่องนี้นำเสนอผ่านสื่อมนุษย์ สื่อสิ่งพิมพ์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงผู้รับสาร ได้แก่ พระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงศึกษากับสุนทรภู่ ขุนนางและบุคคลร่วมสมัยกับผู้แต่ง อีกทั้งครู อาจารย์ นักวิชาการภาษาและวรรณคดีไทย ในสมัยหลัง การใช้แบบจำลองการสื่อสารของ เดวิด เค เบอร์โล ศึกษากาพย์พระไชยสุริยา พบว่าสุนทรภู่แฝงการวิพากษ์วิจารณ์สภาพสังคมสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้แก่ การให้ความสำคัญกับการศึกษา ความเชื่อและหลักธรรมในพระพุทธศาสนา การเมืองการปกครองที่เจ้าขุนมูลนายบางคนไม่สนใจการบ้านการเมือง ฉ้อราษฎร์บังหลวง พิพากษาคดีด้วยความอยุติธรรม มีการปล้นสะดมและการลักลอบนำสินค้าเถื่อนเข้าประเทศ นอกจากนี้ในบทประพันธ์ยังแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ด้านการค้ากับชาวต่างชาติ ได้แก่ พ่อค้าชาวจีนและพ่อค้าชาวตะวันตกเข้ามาค้าขายภายในประเทศ กล่าวได้ว่าสุนทรภู่บรรลุตามวัตถุประสงค์ของการสื่อสารแม้เวลาล่วงเลยมากว่า ๒๐๐ ปีแล้ว