จริยธรรมการตีพิมพ์

วารสารฯ เป็นสื่อกลางในการติดต่อสื่อสารผลงานวิชาการและวิจัยที่นำเสนอให้แก่ผู้สนใจทั่วไป กองบรรณาธิการวารสารฯ ตระหนักถึงจริยธรรมการตีพิมพ์ (Publication ethics) ของผู้เขียนบทความ (Author) ผู้ประเมินบทความ (Reviewer) และบรรณาธิการ (Editor) และเพื่อให้การตีพิมพ์ถูกต้องตามหลักจริยธรรมจึงกำหนดจริยธรรมการตีพิมพ์ (Publication Ethics) ของวารสาร 

บทบาทและหน้าที่ของผู้เขียนบทความ (Duties of authors)

1. ผู้เขียนบทความต้องส่งบทความที่ไม่มีการคัดลอกผลงานทั้งส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดจากเนื้อหาบทความของผู้อื่น รวมถึงบทความที่ส่งจะต้องไม่เคยได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่หรืออยู่ระหว่างการพิจารณาตีพิมพ์ในวารสารอื่น และไม่ซ้ำซ้อน หรือคัดลอกผลงานผู้อื่น (Plagiarism) หรือละเมิดลิขสิทธิ์จากผลงานเขียนของผู้อื่น ทั้งนี้การละเมิดลิขสิทธิ์ถือเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนบทความโดยตรงแต่เพียงผู้เดียว

2. ในกรณีที่บทความของผู้เขียนบทความได้รับการพิจารณาตีพิมพ์ ผู้เขียนบทความยินดีตรวจสอบความถูกต้องเรียบร้อยของรูปแบบและเนื้อหาบทความจนกว่าจะมีการตีพิมพ์เผยแพร่ ซึ่งกองบรรณาธิการวารสารฯ จะจัดส่งให้ผู้เขียนบทความได้พิจารณาแก้ไขปรับปรุงรอบตามข้อกำหนดของวารสารฯ ก่อนขั้นตอนของการเผยแพร่ต่อไป

3. ข้อคิดเห็นที่ปรากฏและแสดงในเนื้อหาบทความต่าง ๆ ในวารสารฯ ถือเป็นความเห็นและความรับผิดชอบโดยตรงของผู้เขียนบทความนั้น ๆ มิใช่เป็นความเห็นและความรับผิดชอบใด ๆ ของกองบรรณาธิการวารสารฯ และมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต แต่อย่างใด

4. ผู้เขียนบทความที่นำผลงานของผู้อื่นมาใช้ในบทความ ต้องระบุแหล่งที่มาของข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องและต้องมีบรรณานุกรม (Reference) ไว้ในตอนท้ายของบทความตามรูปแบบการอ้างอิงตามที่กองบรรณาธิการวารสารฯ ได้กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด

5. ผู้เขียนบทความต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องและไม่บิดเบือนข้อมูลหรือให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ

6. ผู้เขียนบทความที่มีชื่อปรากฎในบทความทุกคน ต้องเป็นผู้ที่มีส่วนในการดำเนินการวิจัยจริง

7. ผู้เขียนบทความต้องระบุแหล่งทุนที่สนับสนุนการทำวิจัยนี้ไว้ในส่วนกิตติกรรมประกาศ หรือ Acknowledgements

8. ผู้เขียนบทความต้องระบุผลประโยชน์ทับซ้อน (ถ้ามี)

9. ผู้เขียนบทความพึงทราบว่า บทความ ข้อมูล เนื้อหา รูปภาพ ฯลฯ ที่ได้รับการลงตีพิมพ์ในวารสารบริหารธุรกิจ ถือเป็นลิขสิทธิ์เฉพาะของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มิใช่เป็นลิขสิทธิ์ของผู้เขียนบทความแต่อย่างใด

10. ผู้เขียนบทความต้องรับทราบและยอมรับถึงข้อกําหนด และนโยบายในการรับพิจารณาตีพิมพ์บทความจากวารสารบริหารธุรกิจ เป็นอย่างดี

 

บทบาทและหน้าที่ของผู้ประเมินบทความ (Duties of Reviewers)

1. ผู้ประเมินบทความในสาขาที่ตนเองมีความเชี่ยวชาญมีหน้าที่พิจารณาความถูกต้องและความน่าสนใจของเนื้อหาบทความ ด้วยใจเป็นกลางและปราศจากอคติ ตลอดจนประโยชน์ที่ผู้อ่านบทความจะได้รับ พร้อมเสนอแนะ และแนวทางแก้ไขปรับปรุงบทความที่สร้างสรรค์และชัดเจนในเชิงประจักษ์ และไม่ใช้ความคิดเห็นส่วนตัว ความชอบ หรือไม่ชอบ ในการตัดสินบทความ

2. ผู้ประเมินบทความควรประเมินบทความในแง่ของคุณภาพทางวิชาการ หากผู้ประเมินบทความได้รับการทาบทามจากกองบรรณาธิการวารสารฯ ผู้ประเมินบทความควรรีบตอบรับหรือปฏิเสธการทาบทามด้วยความรวดเร็ว และไม่ควรเพิกเฉย ด้วยการไม่แจ้งตอบกลับใด ๆ (ตอบรับหรือปฏิเสธ) ให้กองบรรณาธิการวารสารฯ ได้ทราบ รวมทั้งผู้ประเมินควรประเมินบทความภายในระยะเวลาที่วารสารกำหนด เมื่อผู้ประเมินบทความไม่สามารถส่งข้อเสนอแนะบทความได้ทันตามเวลาตามที่กำหนดไว้ ผู้ประเมินบทความควรแจ้งให้กองบรรณาธิการวารสารฯ ได้ทราบ พร้อมทั้งควรแจ้งกำหนดเวลาใหม่ในการส่งคืนข้อเสนอแนะบทความต่อไป

3. ภายหลังจากการประเมินบทความและให้ข้อเสนอแนะในครั้งแรกเรียบร้อยแล้ว เมื่อผู้เขียนบทความได้แก้ไขปรับปรุงบทความ (พร้อมเหตุผลและคำชี้แจง) กลับมาเพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง กองบรรณาธิการวารสารฯ จะขอความอนุเคราะห์ในการประเมินบทความครั้งต่อไป ซึ่งผู้ประเมินบทความจะเป็นผู้พิจารณาการแก้ไขปรับปรุงบทความดังกล่าว เมื่อพิจารณาแล้วเสร็จ ผู้ประเมินบทความควรแจ้งผลการพิจารณาให้กองบรรณาธิการได้รับทราบต่อไป

4. ผู้ประเมินบทความต้องไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนใดส่วนหนึ่งของผลงานที่ทำการประเมินแก่บุคคลอื่นซึ่งไม่เกี่ยวข้อง (Confidentiality) ในช่วงระยะเวลาของการประเมินบทความ รวมทั้งไม่ควรสอบถามกองบรรณาธิการหรือพยายามเสาะหาข้อมูลเกี่ยวกับข้อมูลส่วนใดส่วนหนึ่งของบทความเรื่องที่ตนได้ตอบรับการพิจารณาคุณภาพ

5. หากผู้ประเมินบทความได้รับบทความซึ่งตนเองอาจมีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้ประเมินควรแจ้งแก่บรรณาธิการโดยทันทีและปฏิเสธการประเมินบทความนั้น

 

บทบาทและหน้าที่ของบรรณาธิการวารสาร (Duties of Editors)

1. บรรณาธิการต้องพัฒนาปรับปรุงคุณภาพของวารสารอย่างสม่ำเสมอ

2. บรรณาธิการต้องพิจารณาคุณภาพบทความเบื้องต้นก่อนเข้าสู่กระบวนการประเมิน โดยไม่มีอคติในทุกด้าน

3. บรรณาธิการต้องมีระบบในการจัดการผลประโยชน์ทับซ้อนหรือการขัดกันด้านผลประโยชน์ของบรรณาธิการเอง รวมทั้งของเจ้าหน้าที่วารสาร ผู้เขียนบทความ ผู้ประเมินบทความ และ กองบรรณาธิการ

4. บรรณาธิการเป็นผู้พิจารณาคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ในการประเมินบทความเรื่องนั้น ๆ โดยจะไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้เขียนและผู้ประเมินบทความแก่บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องได้ทราบโดยเด็ดขาด รวมทั้งบุคคลอื่นที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย

5. บรรณาธิการต้องตัดสินใจเลือกบทความเพื่อตีพิมพ์ภายหลังจากผ่านกระบวนการประเมินบทความแล้วเท่านั้น  โดยจะพิจารณาจากเหตุผลหลักคือ ลำดับก่อนหน้าของการส่งบทความ (Queue) และความน่าสนใจ/ความหลากหลายของเนื้อหาบทความ (Content) รวมถึงเหตุผลในด้านความเหมาะสมอื่น ๆ (Suitability) เป็นสำคัญ ในกรณีที่มีเหตุผลสำคัญ ที่อาจจะไม่นำบทความของผู้เขียนบทความเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ลงตีพิมพ์ในวารสารในฉบับที่ตามที่ระบุในหนังสือตอบรับให้ได้นั้น บรรณาธิการขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความดังกล่าว ลงตีพิมพ์ในวารสารในฉบับต่อ ๆ ไป ตามที่เห็นสมควร โดยบรรณาธิการจะต้องแจ้งให้ผู้เขียนบทความเรื่องนั้น ๆ ได้รับทราบล่วงหน้าก่อนเสมอ

6. หากตรวจพบการคัดลอกผลงานของผู้อื่นในกระบวนการประเมินบทความ บรรณาธิการต้องหยุดกระบวนการประเมินโดยทันที และดำเนินการติดต่อผู้นิพนธ์หลักเพื่อให้ทำการชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อบรรณาธิการจะได้นำไปใช้ประกอบในการตอบรับหรือปฏิเสธการตีพิมพ์บทความนั้นต่อไป

7. บรรณาธิการต้องเต็มใจที่จะแก้ไขข้อผิดพลาดการตีพิมพ์เพื่อทำให้เกิดความกระจ่าง หากบรรณาธิการรับรู้ความไม่ถูกต้องเกิดขึ้นกับบทความที่ตีพิมพ์ไปแล้ว หรือมีประโยคที่นำไปสู่ความเข้าใจผิด หรือมีรายงานที่บิดเบือนข้อเท็จจริง ต้องแก้ไขให้ถูกต้องและชัดเจนทันที นอกจากนั้นหากปรากฏการประพฤติทุจริตมิชอบใด ๆ ภายหลังการดำเนินการตรวจสอบแล้ว บรรณาธิการต้องดำเนินการเพิกถอนบทความนั้นด้วยความชัดเจนที่จะสามารถพิสูจน์ได้ ทั้งนี้ การเพิกถอนนี้ต้องให้ผู้อ่านและระบบฐานข้อมูลอื่น ๆ ทราบด้วย