การพัฒนาการถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นเรื่องป่าชายเลนชุมชนผ่านการมีส่วนร่วมของชุมชนให้แก่เยาวชนในชุมชนเกาะหยงสตาร์ จังหวัดตรัง
บทคัดย่อ
การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมนี้ดำเนินการวิจัย 2 วงจร มีวัตถุประสงค์คือ 1) เพื่อพัฒนาการจัดการความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเรื่องป่าชายเลนชุมชนจากการมีส่วนร่วมของชุมชนเกาะหยงสตาร์ จังหวัดตรัง 2) เพื่อพัฒนารูปแบบการถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นเรื่องป่าชายเลนชุมชนให้แก่เยาวชนจากการมีส่วนร่วมของชุมชน และ 3) เพื่อศึกษาผลการถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นเรื่องป่าชายเลนชุมชนให้แก่เยาวชนจากการมีส่วนร่วมของชุมชน เก็บข้อมูลด้วยวิธีผสมผสานคือ การเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพเสริมด้วยข้อมูลเชิงปริมาณ โดยมีเครื่องมือรวบรวมข้อมูลคือ วิเคราะห์เอกสาร สำรวจพื้นที่ สัมภาษณ์เชิงลึก สังเกต สนทนากลุ่ม และแบบประเมินความรู้ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา สถิติพรรณนา คือ ความถี่ ค่าเฉลี่ยและสถิติเชิงเปรียบเทียบคือ t-test
ผลการวิจัยพบว่า 1) การจัดการความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเรื่องป่าชายเลนชุมชนจากการมีส่วนร่วมของชุมชนเกาะ หยงสตาร์ จังหวัดตรังคือ ผู้ใช้ประโยชน์ตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไปได้รับการถ่ายทอดภูมิปัญญาป่าชายเลนชุมชนจากบรรพบุรุษ จำแนกการใช้ประโยชน์ได้ 2 ลักษณะคือ การนำพืชพันธุ์ในป่าชายเลนมาใช้ประโยชน์ และ การใช้ประโยชน์ในอาชีพ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องลงความเห็นว่าควรเริ่มจัดการความรู้เรื่อง “การนำพืชพันธุ์ในป่าชายเลนมาใช้ประโยชน์” และประชาชนใช้ประโยชน์จากพืชพันธุ์ในป่าชายเลนจำนวน 40 ชนิด 2) ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเลือกถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นเรื่องป่าชายเลนชุมชนให้แก่เยาวชน คือ “ต้นโปรงขาว และต้นโปรงแดง” รูปแบบการถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นเรื่องป่าชายเลนชุมชนให้แก่เยาวชน ประกอบด้วยลักษณะรูปแบบการถ่ายทอดภูมิปัญญา วัน เวลา สถานที่ และผู้นำกิจกรรม/เจ้าหน้าที่ 3) ผลการถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นเรื่องป่าชายเลนชุมชนให้แก่เยาวชนจากการมีส่วนร่วม คือ เยาวชนผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีความรู้เพิ่มขึ้น สามารถปฏิบัติได้ มองเห็นคุณค่าและประโยชน์ของป่าชายเลนชุมชน ตระหนักถึงการอนุรักษ์ป่าชายเลนชุมชน และภายหลังการปฏิบัติการใช้รูปแบบการถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นเรื่องป่าชายเลนชุมชนเยาวชนมีความรู้มากกว่าก่อนเข้าร่วมกิจกรรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ.05
Downloads
Downloads
How to Cite
ฉบับ
บท
License
บทความทุกบทความที่ได้รับการตีพิมพ์ถือเป็นลิขสิทธิ์ของวารสารสถาบันวัฒนธรรมและศิลปะ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ