การพัฒนาความสามารถในการสร้างสรรค์ผลงานทางด้านนาฏศิลป์ไทย โดยใช้โมเดลซิปปา
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อพัฒนาแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบโมเดลซิปปา (CIPPA Model) 2) เพื่อศึกษาความสามารถในการสร้างสรรค์ผลงานทางด้านนาฏศิลป์ไทย ด้วยการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบโมเดลซิปปา (CIPPA Model) 3) เพื่อศึกษาความคิดเห็นของผู้เรียนที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบโมเดลซิปปา (CIPPA Model) 4) เพื่อศึกษาความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่มีต่อผลงานสร้างสรรค์ทางด้านนาฏศิลป์ไทย กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ นักศึกษาระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 3 สาขาวิชานาฏศิลป์ไทยศึกษา ภาควิชานาฏดุริยางคศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ภาคการศึกษาที่ 2 ปีการศึกษา 2558 จำนวน 2 ห้อง จำนวนนักศึกษาทั้งสิ้น 55 คน โดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย แผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 4 แผน และแบบประเมิน ใช้สถิติ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัยพบว่า 1) การพัฒนาแผนการจัดการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาความสามารถในการสร้างสรรค์ผลงานทางด้านนาฏศิลป์ไทย ซึ่งมีเนื้อหาสาระสำคัญประกอบด้วย เรื่อง นาฏทฤษฎี, นาฏลักษณ์, นาฏยศัพท์ (การตีความ, การสื่อสาร), นาฏประดิษฐ์ จำนวน 4 แผนการเรียนรู้ ครั้งละ 4 ชั่วโมง โดยใช้ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบโมเดลซิปปา ซึ่งมีทั้งหมด 7 ขั้นตอน และจากการพิจารณาค่าความสอดคล้อง (IOC) ของผู้เชี่ยวชาญ สรุปได้ว่าผู้เชี่ยวชาญมีความคิดเห็นว่าแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบโมเดลซิปปา (CIPPA Model) มีความสอดคล้องกัน และมีค่าความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก 2) ความสามารถในการสร้างสรรค์ผลงานทางด้านนาฏศิลป์ไทย ด้วยการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบโมเดลซิปปา (CIPPA Model) พบว่า การแสดงสร้างสรรค์ทั้งหมด มีจำนวน 5 ชุดการแสดง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรูปแบบการสร้างสรรค์งานทางด้านนาฏศิลป์ไทยเชิงอนุรักษ์ เพื่อเป็นการรักษาศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญา และวรรณกรรมของไทย โดยนำเสนอให้อยู่ในรูปแบบศิลปะการแสดงนาฏศิลป์ไทยประยุกต์ จากผลการประเมินความสามารถในการสร้างสรรค์ผลงานทางด้านนาฏศิลป์ไทย จากคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก 3) ความคิดเห็นของผู้เรียนที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบโมเดลซิปปา (CIPPA Model) โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด 4) ความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่มีต่อผลงานสร้างสรรค์ทางด้านนาฏศิลป์ไทยโดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก
Downloads
Downloads
How to Cite
ฉบับ
บท
License
บทความทุกบทความที่ได้รับการตีพิมพ์ถือเป็นลิขสิทธิ์ของวารสารสถาบันวัฒนธรรมและศิลปะ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ