การพัฒนากิจกรรมการเต้นบัลเลต์เพื่อพัฒนาบุคลิกภาพทางกาย

ผู้แต่ง

  • กันตภณ ตันแต้มดี คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
  • ธรากร จันทนะสาโร คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ระวิวรรณ วรรณวิไชย คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

คำสำคัญ:

บุคลิกภาพ, บัลเลต์, การพัฒนา, นาฏศิลป์บำบัด

บทคัดย่อ

          งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อพัฒนาชุดกิจกรรมการเต้นบัลเลต์เพื่อพัฒนาบุคลิกภาพทางกาย และ 2) เพื่อเปรียบเทียบผลก่อนและหลังจากการใช้ชุดกิจกรรมการเต้นบัลเลต์เพื่อพัฒนาบุคลิกภาพทางกาย โดยใช้ทฤษฎีบุคลิกภาพทางกายประกอบกับทฤษฎีควบคุมการเคลื่อนไหว (Motor control theory) และนำเนื้อหาจากหลักสูตรนาฏศิลป์หลวงแห่งอังกฤษ (Royal Academy of Dancing: R.A.D.) มาเรียบเรียงและจัดทำข้อมูลเป็นชุดกิจกรรม โดยกิจกรรมแบ่งออกเป็น 12 ครั้ง ครั้งละ 60 นาที กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ในชมรมนาฏศิลป์ โรงเรียนพระมารดานิจจานุเคราะห์ กรุงเทพฯ จำนวน 15 คน ที่ไม่มีพื้นฐานบัลเลต์ และได้จากการคัดเลือกแบบเจาะจง (Purposive sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ ผู้วิจัยได้สร้างแบบวัดบุคลิกภาพทางกายในด้านการเคลื่อนไหวที่ผลต่ออิริยาบถ การยืน การเดิน การนั่ง ก่อนและหลัง ร่วมกับการสังเกต และใช้การวิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาคะแนนค่าเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน
           ผลการวิจัยพบว่า 1) ชุดกิจกรรมการเต้นบัลเลต์ จากการใช้ท่าเรียนบัลเลต์ที่ราว (Barr work) และการเรียนกลางห้อง (Centre work) โดยใช้ท่าพื้นฐานที่มีความสัมพันธ์กับลักษณะพฤติกรรมอิริยาบถการยืน ประกอบด้วยการแสดงออกเชิงพฤติกรรมหลังตั้งตรง ศีรษะตั้งตรง กดไหล่ ขาแนบชิด หัวเข่าชี้ไปด้านหน้า ปลายเท้าชี้ไปด้านหน้า และมือทั้งสองข้างแนบลำตัว ใช้ท่าเดมิพลิเย (Demi-Pliés) ท่ากรองด์พิเย (Grand-Plié) ท่าไรส์อัป (Rises up) และท่าท็องด์ดูส์ (Tendus) ลักษณะพฤติกรรมอิริยาบถการเดิน ประกอบด้วยการแสดงออกเชิงพฤติกรรมหลังตั้งตรง ศีรษะตั้งตรง กดไหล่ หัวเข่าชี้ไปด้านหน้า ปลายเท้าชี้ไปด้านหน้า และแขนแกว่งสม่ำเสมอ โดยสามารถนำมาใช้เป็นข้อสังเกตของลักษณะท่าการเดิน อีกทั้งการทรงตัวในขณะทำท่าเดินจะช่วยให้ท่าเดินนั้นปฏิบัติได้เป็นธรรมชาติ จากการใช้บัลเลต์ในท่าเดมิพลิเย (Demi-Pliés) ท่ากรองด์พิเย (Grand-Plié) ท่าไรส์อัป (Rises up) ท่าท็องด์ดูส์ (Tendus) ท่าทรานเฟอ ออฟ เวท (Transfer of weight) และท่าคลาสสิกคัล วอล์ก (Classical walk) และลักษณะพฤติกรรมอิริยาบถการนั่ง ประกอบด้วยการแสดงออกเชิงพฤติกรรมหลังตั้งตรง ศีรษะตั้งตรง กดไหล่ ข้อสะโพกงอ 90 องศาขณะนั่ง และเท้าวางราบกับพื้น โดยสามารถนำมาใช้เป็นข้อสังเกตของลักษณะท่าการนั่ง อีกทั้งการทรงตัวในขณะทำท่านั่งจะช่วยให้การนั่งมีความสวยงามและเป็นธรรมชาติ จากการใช้ท่าเดมิพลิเย (Demi-Pliés) ท่าไรส์อัปแอนด์บาล้านซ์ (Rises up and balance) ท่าทรานเฟอ ออฟ เวท (Transfer of weight) และท่าซิท (Sit) และ 2) ผลการทดลองของกลุ่มตัวอย่างหลังจากการใช้ชุดกิจกรรมการเต้นบัลเลต์เพื่อพัฒนาบุคลิกภาพทางกายมีพัฒนาการในระดับที่เพิ่มขึ้น และพบว่ามีค่าเฉลี่ยคะแนนหลังจากการเข้าร่วมกิจกรรมการเต้นบัลเลต์เพื่อพัฒนาบุคลิกภาพทางกายสูงขึ้นแสดงนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01

Downloads

Download data is not yet available.

References

กัญชพร ตันทอง. (2560). การเต้นบัลเลต์เพื่อพัฒนาและเสริมสร้างบุคลิกภาพสำหรับเด็กปฐมวัย กรณีศึกษาสถาบันดนตรีเคพีเอ็น เซ็นทรัลแจ้งวัฒนะ, สืบค้นเมื่อ 8 มกราคม 2562,จากhttps://so02.tcithaijo.org/index.php/fakku/article/view/93312.

เนตรชนก เจริญสุข. (2557). การยืนและนั่งแบบการยศาสตร์, EAU Heritage journal science and technology, 11-15.

ไปรยาวีริณ ศรีประเสริฐ. (2560). รูปแบบกิจกรรมการเต้นบัลเลต์ เพื่อส่งเสริมพฤติกรรมที่เหมาะสมสำหรับเด็กสมาธิสั้น ในระดับประถม

ศึกษา, สืบค้นเมื่อ 4 พฤษภาคม 2563, จาก https://he02.tci-thaijo.org/index.php/Veridian-E-Journal/article/view/103465.

พีระ พันลูกท้าว เป็นผู้ให้สัมภาษณ์, กันตภณ ตันแต้มดี เป็นผู้สัมภาษณ์, ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562.

รัตนพรรณ เนื้อนวล. (2558). การพัฒนาทักษะเด็กที่มีปัญหาในการแยกทิศทางขวาซ้ายโดยการเต้นรำในรูปแบบบอลรูมแดนส์. ปริญญานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต, สาขาวิชาศิลปศึกษา กรุงเทพฯ: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

ศิริมงคล นาฏยกุล. (2558). นาฏศิลป์ตะวันตกปริทัศน์. ขอนแก่น: โรงพิมพ์นานวิทยา.

Schmidt, R.A. (1988). Motor and Action Perspectives on Motor Behaviour. Advances in Psychology 50, 40-44.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-12-29