บทบาทของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 กับนาฏศิลป์ราชสำนักในฝรั่งเศส

ผู้แต่ง

  • ธรากร จันทนะสาโร คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

คำสำคัญ:

บทบาทนาฏศิลป์ราชสำนัก, สภาพนาฏศิลป์ราชสำนัก, พระเจ้าหลุยส์ที่ 14, บัลเลต์

บทคัดย่อ

         งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 2 ประการคือ เพื่อศึกษาบทบาทของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ในฐานะผู้อุปถัมภ์นาฏศิลป์ราชสำนักฝรั่งเศส และเพื่อศึกษาสภาพของนาฏศิลป์ราชสำนักฝรั่งเศส ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บรวบรวมข้อมูลเชิงเอกสาร ร่วมกับการสัมภาษณ์ แล้วนำมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ และสรุปผลตามลำดับ

         ผลการวิจัยสรุปได้ว่า ในด้านบทบาทของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่มีต่อนาฏศิลป์ราชสำนักฝรั่งเศส แบ่งเป็น 2 ประการคือ 1) พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงเปิดโอกาสให้กับนักเต้นรำอาชีพได้เข้ามาแสดงนาฏศิลป์ราชสำนัก เหตุเพราะพระองค์มีน้ำหนักพระวารกายที่เพิ่มมากขึ้น และพระองค์ต้องการรักษาสถานภาพอันน่าเกรงขามของพระเจ้าแผ่นดินให้คงอยู่ อีกทั้งการยุติบทบาทในฐานะนักแสดงของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 อันเนื่องมาจากที่พระองค์ต้องการเปิดโอกาสให้กับนักแสดงอาชีพได้เข้ามาแสดงแทนนักแสดงกิตติมศักดิ์ และ 2) พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงก่อตั้งโรงเรียนสอนนาฏศิลป์แห่งแรกของโลกขึ้นในปี ค.ศ. 1661 คือ อากาเดมี รัวยาล เดอ ดองส์ (Académie Royale de Danse) เพื่อเป็นการเสริมสร้างความสมบูรณ์แบบในความเป็นมืออาชีพให้กับศิลปะแขนงนี้มากที่สุด ซึ่งสถาบันแห่งนี้ก็อยู่รับใช้สังคมมาได้จนถึงช่วงเวลาก่อนการปฏิวัติในฝรั่งเศส

         ในด้านสภาพของนาฏศิลป์ราชสำนักฝรั่งเศส แบ่งเป็น 4 ประการคือ 1) แนวคิดของปรากฏการณ์นาฏศิลป์ราชสำนักฝรั่งเศส พบว่า นำเสนอผ่านเนื้อหา รูปแบบ และวิธีการนำเสนอนาฏศิลป์ ที่ได้รับอิทธิพลมาจากกลุ่มชนชั้นสูงหรือเหล่าข้าราชบริพาล มีความเชื่อเรื่องเทพปกรณัม การสร้างภาพลักษณ์เป็นเสมือนกับเทพเจ้าที่มีอำนาจเหนือประชาชนทั้งปวง 2) การนำเสนอเอกลักษณ์ทางนาฏศิลป์ พบว่า อาศัยการแสดงที่เรียกว่า มินูเอ็ต ด๊านซ์ (Minuet dance) ที่มุ่งเน้นและนำเสนอมารยาทของราชสำนัก รวมทั้งประเพณีทางสังคมที่สำคัญ ผ่านการฝึกฝนและการแสดง 3) บัลเลต์ เดอ กูร์ (Ballet de cour) ในฝรั่งเศส พบว่า เป็นลักษณะของนาฏศิลป์ราชสำนักที่เป็นภาพสะท้อนของความฟุ่มเฟือยแห่งราชสำนักฝรั่งเศส ประกอบไปด้วยการร้องเพลง การแสดงดนตรี การอ่านบทกวี และการเต้นรำ โดยเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานได้มีส่วนร่วมในตอนจบของการแสดง และ 4) พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 กับเลอ บัลเลต์ เดอ ลา นุย (Le Ballet de la Nuit) พบว่า พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงแสดงตนเสมือนเป็นพระอาทิตย์ และดำเนินชีวิตเสมือนหนึ่งว่ามีบริวารรายล้อมอยู่ โดยมีพระองค์เป็นศูนย์กลางของจักรวาล มีการใช้สัญลักษณ์เปรียบเทียบกับพระเจ้าแผ่นดิน โดยพระอาทิตย์ในที่นี้ สื่อถึง การเป็นตัวแทนแห่งเกียรติยศ ความรัก ความกล้าหาญ ความมีชื่อเสียง และสันติภาพ

            การเชื่อมโยงปรากฏการณ์ทางประวัติศาสตร์ในผลการวิจัย มีองค์ความรู้แบบ “ชาติพันธุ์ทางนาฏศิลป์” (Ethnic dance) ร่วมอยู่ด้วย ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เป็นผลมาจากการเมืองการปกครอง สภาพสังคม วัฒนธรรม ศาสนา และเศรษฐกิจ ที่เปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับการใช้นาฏศิลป์ในราชสำนักเป็นตัวแทนของอำนาจและบารมี รวมถึงความต้องการให้ฝรั่งเศสเป็นจุดศูนย์กลางของยุโรป ส่งผลให้นาฏศิลป์เป็นเครื่องมือสำคัญและมีส่วนเชื่อมโยงกับรัฐศาสตร์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

References

นราพงษ์ จรัสศรี. (2559). ประวัตินาฏยศิลป์ตะวันตก. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
นราพงษ์ จรัสศรี. (2558, 17 ธันวาคม). ศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชานาฏยศิลป์ตะวันตก ภาควิชานาฏยศิลป์
คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สัมภาษณ์.
ประวิทย์ ฤทธิบูลย์. (2560, มกราคม-มิถุนายน). การพัฒนาความสามารถในการสร้างสรรค์ผลงานทางด้าน
นาฏศิลป์ไทย โดยใช้โมเดลซิปปา. วารสารสถาบันวัฒนธรรมและศิลปะ. 18(2): 72-89.
อภิธรรม กำแพงแก้ว. (2559, 12 กรกฎาคม). รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร สถาบันวิจัย พัฒนา และสาธิตการศึกษา
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และอดีตอาจารย์ประสำขาวิชานาฏศิลป์สากล คณะศิลปกรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, สัมภาษณ์.
Anderson, J. (1992). Ballet and modern dance: a concise history. 2nd ed. New Jersey: Princeton Book.
Hilton, W. (1981). Dance of court and theatre: The French Noble style 1690-1725. London: Princeton Book.
Kealiinohomoku, J. (2001). An anthropologist looks at ballet as a form of ethnic dance. In A. Dils and
A.C. Albright (eds.), Moving history, dancing cultures: A dance history reader, pp. 33-43.
Middletown, CT: Wesleyn UP.

Prest, Julia. (2006). Theatre under Louis XIV: cross-casting and the performance of gender in drama,
ballet and opera. England: Palgrav Macmillan.
Needham, M. (1997). Louis XIV and the Académie Royale de Danse, 1661 a commentary and translation.
Dance Chronocle. 20(2): 173-190.
Reyna, F. (1965). The concise history of ballet. 2nd ed. London: Grosset and Dunlap.
Sutton, J. (1985). The minuet: An elegant phoenix. Dance Chronicle. 8(3/4): 119-152.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-06-28