ประวัติดนตรีไทยศึกษา : มุมมองทางทฤษฎีการศึกษา

ผู้แต่ง

  • ณรุทธ์ สุทธจิตต์ สาขาวิชาดนตรีศึกษา ภาควิชาศิลปะ ดนตรีและนาฏศิลป์ศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คำสำคัญ:

ดนตรีไทยศึกษา,, ประวัติดนตรีไทยศึกษา,, ดนตรีศึกษา,, การถ่ายทอดดนตรีไทย

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาประวัติดนตรีไทยศึกษาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยสมัยกรุงศรีอยุธยา สมัยกรุงธนบุรี และสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 1800 - 2559) ในด้านองค์ประกอบต่อไปนี้ คือ ผู้สอน ผู้เรียน หลักสูตร และการเรียนการสอน ตามทฤษฎีการศึกษาของสไตเนอร์ (1988) และองค์ประกอบทางสังคมไทยดั้งเดิม วิธีดำเนินการวิจัยประกอบด้วยการเก็บรวบรวมข้อมูลจากเอกสารและการสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ และการวิเคราะห์เอกสารและการสัมภาษณ์

            ผลการวิจัยพบว่า บริบททางสังคมที่ทำให้ดนตรีศึกษามีการเปลี่ยนแปลงในแต่ละสมัย ได้แก่ ด้านเทคโนโลยี การแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจการค้า การรับวัฒนธรรมหรืออารยธรรมเฉพาะด้าน และการศึกษาซึ่งแต่ละสมัยมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด แต่เดิมมา การดนตรีไทยมีการเรียนการสอนโดยระบบมุขปาฐะ ในสถาบันหลักของสังคมไทยแต่โบราณมาสามสถาบัน คือ บ้าน วัด และวัง เริ่มจาก ยุคเริ่มต้น คือ สมัยสุโขทัย (พ.ศ. 1800 - 1981) ซึ่งเป็นยุคที่มีข้อมูลในเรื่องเครื่องดนตรีเท่านั้น มีหลักฐานด้านดนตรีไทยศึกษาน้อยมากจึงใช้การสันนิษฐานจากหลักฐานโบราณคดีได้ว่าดนตรีไทยศึกษามีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนาฏศิลป์ไทย ผู้สอนและผู้เรียนเป็นพราหมณ์ สามัญชนและข้าราชบริพาร การเรียนการสอนเป็นแบบมุขปาฐะ ไม่มีหลักฐานเรื่องหลักสูตร สันนิษฐานได้เพียงว่าหลักสูตรกำหนดโดยผู้สอน ต่อมาใน ยุคพัฒนา ตรงกับสมัยกรุงศรีอยุธยาถึงกรุงธนบุรี (พ.ศ. 1893 - 2325) ผู้สอนเป็นชาวบ้าน ข้าราชบริพาร พราหมณ์ และขุนนาง ผู้เรียนเป็นชาวบ้านหรือข้าราชบริพารและมีการศึกษาในบ้าน วัด และวัง การเรียนการสอนในบ้าน หรือในวัดใช้วิธีการเรียนแบบอยู่ประจำกับครอบครัวของผู้สอน การเรียนในวัง ผู้เรียนพำนักอยู่ในเขตพระราชฐาน ส่วนผู้สอนรับราชการโดยเดินทางไปกลับ เนื่องจากต้องกลับมาสอนดนตรีที่บ้านหรือที่วัดด้วย โดยสอนให้ผู้เรียนเรียนแบบท่องจำ หลักสูตรมีเพลงสองชั้นเป็นหลักและเริ่มมีเพลงสำเนียงภาษาเกิดขึ้น ยุคฟื้นฟู ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 1 - 3 ของกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2325 - 2394) ผู้สอนเป็นสามัญชน ข้าราชบริพาร และขุนนางดนตรี ผู้เรียนเป็นพระมหากษัตริย์ ข้าราชบริพารและชาวบ้าน การเรียนการสอนใช้แบบมุขปาฐะ หลักสูตรกำหนดโดยผู้สอน มีบทเพลงเพิ่มขึ้นโดยการประพันธ์ขึ้นใหม่ มีการพัฒนาวงดนตรีรูปแบบใหม่เกิดขึ้น ยุครุ่งเรือง ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4 - 6 ของกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2394 - 2468) ผู้สอนเป็นพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ สามัญชนที่มีความรู้โดยได้รับการสถาปนายศ ศักดินาให้เป็นครูดนตรี ผู้เรียนเป็นพระมหากษัตริย์ ราชวงศ์ ขุนนาง เจ้านายชั้นสูง ข้าราชบริพาร ทำให้วิชาการดนตรีไทยเจริญขึ้นมาก การสอนยังคงเป็นแบบมุขปาฐะ เกิดขึ้นทั้งในบ้าน วัดและวัง โดยเฉพาะในวังนั้น เป็นยุคที่เฟื่องฟูมีวงดนตรีตามวังต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก และมีการเรียนการสอนดนตรีไทยกันอย่างแพร่หลาย ในด้านหลักสูตร มีการพัฒนาบทเพลงครบสามอัตราจังหวะเรียกว่าเพลงเถา หลักสูตรจึงประกอบไปด้วยสาระต่าง ๆ คือ 1) บทเพลงประเภทต่าง ๆ เช่น เพลงเถา เพลงประกอบการแสดง และบทเพลงประยุกต์ เป็นต้น 2) ระเบียบวิธีการบรรเลงดนตรี 3) การไหว้ครู  ยุคผสมผสาน ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 7 - 10 ของกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2468 - ปัจจุบัน) หรือถึงระยะเวลาปัจจุบัน เป็นยุคที่มีการเรียนเป็นระบบโรงเรียน ผู้สอนและผู้เรียนมีทั้งพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชบริพารและสามัญชน การเรียนการสอนในระบบโรงเรียนดำเนินการเพื่อประชาชนที่เท่าเทียมกัน ส่วนการเรียนดนตรีในบ้าน วัด และวัง มีน้อยลง มีการดำเนินการสอนดนตรีไทยในบ้าน วัดและวังบางแห่งเท่านั้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม และระบบการศึกษา มีการกำหนดหลักสูตรและการเรียนการสอนดนตรีทั้งลักษณะวิชาสามัญและวิชาเฉพาะ การเรียนดนตรีไทยจึงมีระบบระเบียบมากขึ้น เรียนเป็นรายวิชาและกำหนดการประเมินผลอย่างเป็นระบบ มีการพัฒนาหลักสูตรจากบ้าน วัดและวัง เป็นหลักสูตรดนตรีในสถาบันการศึกษาระดับต่าง ๆ ในสภาพสังคมปัจจุบันที่มีการเรียนการสอนดนตรีไทยในสถาบันการศึกษาเป็นส่วนใหญ่ ทำให้การถ่ายทอดแบบดั้งเดิมและการปลูกฝังคุณธรรมมีความเข้มข้นน้อยลง วิถีทางหนึ่งในการพัฒนาระบบการเรียนการสอนดนตรีไทยในสถาบันการศึกษาให้มีความสมบูรณ์เข้มข้น ได้แก่ การนำแนวความคิดของการถ่ายทอดของระบบบ้านดนตรีมาประยุกต์ใช้

References

จิรกานต์ สิริกวินกอบกุล. (2559, มกราคม - มิถุนายน 2559). การพัฒนากรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรี
สาขาวิชาดนตรีศึกษาสำหรับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิ
ระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ. วารสารสถาบันวัฒนธรรมและศิลปะ. ปีที่ 17 (ฉบับที่ 2): 34.
ณรุทธ์ สุทธจิตต์. (2541). จิตวิทยาการสอนดนตรี. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ดวงใจ อมาตยกุล. (2533). ดนตรีตะวันออก. กรุงเทพมหานคร: ภาควิชาดุริยางคศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ธนิต อยู่โพธิ์. (2542). เครื่องดนตรีไทย และตำนานการผสมวงมโหรี ปี่พาทย์ และเครื่องสาย ของนายธนิต อยู่โพธิ์ อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพนางลออ มโนพัฒนะ. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพมหานคร: อักษรธเนศวร.
มนตรี ตราโมท. (2538). ดุริยสาส์นของนายมนตรี ตราโมท ที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ นายมนตรี ตราโมท. กรุงเทพมหานคร: ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน).
พูนพิศ อมาตยกุล และคณะ. (2541). คุณหญิงไพฑูรย์ กิตติวรรณ: อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ. กรุงเทพมหานคร: อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่งจำกัด (มหาชน).
ราชบัณฑิตยสถาน. (2525). ที่ระลึกงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี พุทธศักราช 2525. กรุงเทพมหานคร: บพิธการพิมพ์.
วิมลศรี อุปรมัย. (2527). ดนตรีในระบบการเรียนการสอน. กรุงเทพมหานคร: ศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-06-28