การสร้างสรรค์นาฏยศิลป์จากสัญลักษณ์โอมในความเชื่อของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

ผู้แต่ง

  • อภิโชติ เกตุแก้ว คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คำสำคัญ:

สัญลักษณ์โอม, ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู, การสร้างสรรค์นาฏยศิลป์, นาฏยศิลป์หลังสมัยใหม่

บทคัดย่อ

          งานวิจัยในครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบและแนวคิดหลังในการสร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์จากสัญลักษณ์โอมในความเชื่อของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู โดยมีรูปแบบการวิจัยเชิงคุณภาพและการวิจัยเชิงสร้างสรรค์ โดยศึกษาจากแนวคิดสัญลักษณ์โอมในความเชื่อของศาสนาพราหมณ์–ฮินดู สัญศาสตร์ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู แนวคิดทางองค์ประกอบทัศนศิลป์ที่ปรากฏในสัญลักษณ์โอม นาฏยศิลป์สร้างสรรค์ รวมถึงองค์ความรู้ทางด้านศิลปกรรมศาสตร์แบบสหสาขาวิชา อาทิ นาฏยศิลป์ ทัศนศิลป์ ดุริยางคศิลป์  รวมไปถึงได้ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงเอกสาร สัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย สื่อสารสนเทศอื่น ๆ สำรวจข้อมูลภาคสนาม ตลอดจนวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำมาเป็นแนวทางในการสร้างสรรค์ผลงานทางด้านนาฏยศิลป์ สรุปผล และ  นำเสนอผลการวิจัย                                                                                                                                                                                  ผลการวิจัยพบว่า รูปแบบการแสดงมีองค์ประกอบทั้งหมด 8 ประการ ได้แก่ 1) บทการแสดง โดยวิเคราะห์จากแนวคิดองค์ประกอบทัศนศิลป์ที่ปรากฏบนสัญลักษณ์โอมและนำมาเชื่อมโยงให้สอดคล้องกับความหมายของสัญลักษณ์โอมในความเชื่อของตรีมูรติ แบ่งเป็น 3 องก์ ประกอบไปด้วย องก์ 1 จุดเริ่มต้น (Starting Point) องก์ 2 เส้นโค้งแห่งการปกป้องดูแล (The Curve of Protection) และองก์ 3 จุดสิ้นสุด (End Point) โดยผู้วิจัยได้ใช้รูปแบบและวิธีการเรียงร้อยเรื่องด้วยภาพการแสดงจากแนวคิดการปะติดภาพ (Collage) 2) นักแสดง คัดเลือกจากผู้มีความสามารถทางด้านนาฏยศิลป์อินเดียและตะวันตก อีกทั้งสามารถสื่อสารทางอารมณ์และความรู้สึก 3) การเคลื่อนไหวลีลา นำเสนอผ่านรูปแบบนาฏยศิลป์หลังสมัยใหม่ โดยการนำแนวคิดของนาฏยศิลปินชาวตะวันตก ได้แก่ อิสดอรา ดันแคน (Isadora Duncan) ในแนวคิดการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างอิสระ (Free Spirit), พอล เทย์เลอร์ (Paul Taylor) แนวคิดการใช้ท่าทางในชีวิตประจำวัน (Everyday Movement), สตีฟ แพกซ์ตัน (Steve Paxton) แนวคิดการเคลื่อนไหวลีลาโดยใช้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างร่างกายในแบบด้นสด (Body Contact Improvisation) และนาฏยศิลปินชาวตะวันออก ได้แก่ อาครัมคาน (Akram Khan) โดยเคลื่อนไหวใช้ทักษะท่าทางนาฏยศิลป์อินเดียมาผสมผสานกับนาฏศิลป์แบบตะวันตก, หลินเหวยหมิน (Lin Hwai-Min) ในการเคลื่อนไหวร่างกายโดยใช้การควบคุมลมหายใจพร้อมกับการใช้กล้ามเนื้อที่แสดงให้เห็นถึงพลัง 4) เสียงเป็นการแสดงแบบดนตรีสดโดยใช้เครื่องดนตรีที่สามารถสื่อถึงอารมณ์และความรู้สึก 5) อุปกรณ์การแสดง ใช้แนวคิดสัญลักษณ์ที่เน้นความเรียบง่าย สามารถสื่อสารความหมายอย่างชัดเจนและเข้าใจง่าย 6) เครื่องแต่งกาย เป็นการลดทอนการแต่งกายของอินเดียโดยการนำแนวคิดมินิมอลลิสม์ (Minimalism) ที่ให้ความสำคัญกับความเรียบง่าย 7) พื้นที่ ได้นำแนวคิดศิลปะกับพื้นที่เฉพาะ (Site Specific) มาปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่การแสดง 8) แสง ใช้แนวคิดทฤษฎีของสีมาสื่อสารทางความหมายของเรื่องราวอารมณ์และความรู้สึกและมีแนวคิดหลังในการแสดง 6 ประการ คือ 1) แนวคิดสัญลักษณ์โอมในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู 2) แนวคิดความเรียบง่าย ตามแนวคิดนาฏยศิลป์หลังสมัยใหม่ 3) แนวคิดความคิดสร้างสรรค์ในการแสดงนาฏยศิลป์ 4) แนวคิดการใช้สัญลักษณ์ในงานนาฏยศิลป์ 5) แนวคิดการใช้ทฤษฎีทางด้านศิลปกรรมศาสตร์ 6) แนวคิดการใช้พหุวัฒนธรรม ซึ่งผลการวิจัยนี้มีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการวิจัยทุกประการ                                                                                                                       การวิจัยในครั้งนี้เป็นการรวบรวมองค์ความรู้เพื่อพัฒนาผลงานทางด้านนาฏยศิลป์มาบูรณาการร่วมกับศาสตร์แขนงอื่นๆ เพื่อนำมาเป็นสื่อทางความคิดในการสร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์เกี่ยวกับสัญลักษณ์โอมในความเชื่อของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู อีกทั้งยังเป็นแนวทางในการสร้างสรรค์ผลงานทางนาฏยศิลป์ต่อไป

Downloads

Download data is not yet available.

References

กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย. (2547). ภารตวิทยา. กรุงเทพฯ: ศยาม.

ชลูด นิ่มเสมอ. (2557). องค์ประกอบศิลปะ. กรุงเทพฯ: อมรินทร์.

ธรากร จันทนะสาโร. (2557). นาฏยศิลป์จากแนวคิดไตรลักษณ์ในพระพุทธศาสนา. วิทยานิพนธ์ปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาศิลปกรรมศาสตร์. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

นราพงษ์ จรัสศรี. (2548). ประวัตินาฏยศิลป์ตะวันตก. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

นราพงษ์ จรัสศรี. ศาสตราจารย์วิจัย สังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. สัมภาษณ์วันที่ 8 มิถุนายน 2561. 22 มิถุนายน 2561. 2 สิงหาคม 2561.

รักษ์สินี อัครศวะเมฆ. อาจารย์ประจำสาขาวิชานาฏศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. สัมภาษณ์ วันที่ 30 สิงหาคม 2561.

วรรณวิภา มัธยมนันท์. (2558). นาฏยศิลป์จากแนวคิดการแบ่งภาคของพระนารายณ์. วิทยานิพนธ์ปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาศิลปกรรมศาสตร์ กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

วิชชุตา วุธาทิตย์. ข้าราชการบำนาญ สังกัดคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. สัมภาษณ์ วันที่ 31 สิงหาคม 2561.

ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์. นักวิชาการด้านศาสนวิทยา ศาสนศาสตร์ ปรัชญา มนุษยวิทยา และรัฐศาสตร์. สัมภาษณ์ วันที่ 8 ตุลาคม 2561.

สุชาติ กิจชัยพร. (2545). มหาเทพ. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ ส.พิจิตร.

สุรพงษ์ บ้านไกรทอง. อาจารย์ประจำสาขาวิชาดนตรีศึกษา วิทยาลัยการดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา.สัมภาษณ์ วันที่ 6 มิถุนายน 2561.

สมพร รอดบุญ. (2551). ศิลปะในรูปแบบอินสตอลเลชั่น (Installation Art). บทความตีพิมพ์ในสูจิบัตรการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 54. : 147. คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

อรุณศักดิ์ กิ่งมณี. (2551). ตรีมูรติ อภิมหาเทพของฮินดู. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ.

อานันท์ กาญจนพันธุ์. (2528). วัฒนธรรมกับการพัฒนา: มิติของพลังที่สร้างสรรค์. กรุงเทพฯ: สำนักคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-06-29