ส่องแสงแลเงาอดีตที่ทอดยาวถึงปัจจุบันสู่การสร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัย

Main Article Content

สุกรี เกษรเกศรา

Abstract

ศิลปะการแสดงหนังตะลุงเป็นวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่นภาคใต้ที่สืบทอดมายาวนานหลายยุคหลายสมัย หนังตะลุงทำหน้าที่ทั้งที่เป็นสื่อบันเทิงและถ่ายทอดศีลธรรม จริยธรรม ตลอดจนข่าวสารให้กับประชาชน ปัจจุบันเกิดการเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม ทำให้หนังตะลุงมีการปรับเปลี่ยนทั้งเนื้อหาและรูปแบบการแสดง ทั้งการนำสื่อ  เครื่องมือและเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ผสมผสานในการแสดงหนังตะลุงให้ทันสมัยอยู่เสมอ ประกอบกับประชาชนทั้งในภาคใต้และท้องถิ่นอื่นๆ ในประเทศไทยสนใจและเข้าใจศิลปะการแสดงหนังตะลุงน้อยลง


ผลงานสร้างสรรค์  เรื่อง  “ส่องแสงแลเงาอดีตที่ทอดยาวถึงปัจจุบันสู่การสร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัย” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบริบทเกี่ยวกับประวัติความเป็นมา  องค์ประกอบ  ลักษณะและรูปแบบ  ตลอดจนคติความเชื่อและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของศิลปะการแสดงหนังตะลุงของท้องถิ่นภาคใต้ของประเทศไทย  ผ่านการวิเคราะห์และสังเคราะห์เพื่อการสร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัย (contemporary art) ที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์ของหนังตะลุงภาคใต้  สำหรับเป็นสื่อเผยแพร่วัฒนธรรมภาคใต้ในพื้นที่อื่น มีลักษณะเป็นงานวิจัยเชิงสร้างสรรค์ศิลปะ (art creative research) ขั้นตอนการศึกษา ประกอบด้วย  การศึกษาศิลปะการแสดงหนังตะลุงภาคใต้ วิเคราะห์ (analysis) คุณค่า อัตลักษณ์  ตลอดจนองค์ประกอบของการแสดงหนังตะลุง   และนำผลที่ได้จากการศึกษาในขั้นตอนแรกมาทำการสังเคราะห์ (synthesis) เพื่อสร้างสรรค์ศิลปะ (creative art)


ผลการศึกษาพบว่าคุณค่าและอัตลักษณ์ของหนังตะลุงภาคใต้ คือ ขนบนิยมหรือลำดับขั้นตอนการแสดงหนังตะลุง เช่น การทักทายโรงหนัง การตั้งเครื่องเบิก โหมโรง ออกลิงหัวค่ำ ออกฤาษี  ออกรูปฉะออกรูปพระอิศวรทรงโค และออกปรายหน้าบท เป็นต้น และการเล่นเงาจากการเชิดรูปหนัง และองค์ประกอบต่างๆ ในศิลปะการแสดงหนังตะลุง คือ นายหนัง  จอหนัง  รูปหนัง  เรื่องบทหนัง  โรงหนังตะลุง  แสงไฟ  เครื่องขยายเสียง เครื่องดนตรีแบบดั้งเดิมและสากล ลูกคู่  และสื่อเทคโนโลยีสมัยใหม่ ในการสร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัยได้แรงบันดาลใจจากคุณค่าอัตลักษณ์ของหนังตะลุงภาคใต้ คือ การโหมโรง การออกรูปฉะ และรูปทรงจากตัวหนัง และองค์ประกอบในการแสดงหนังตะลุง คือ แสงก่อให้เกิดเงา เสียงจากดนตรี การพากษ์  สีสันลวดลายจากรูปตัวหนัง และเรื่องบทหนังตะลุง มาเป็นแนวคิดเพื่อการสร้างสรรค์ผลงานรูปทรง 3 มิติ  เน้นส่องแสงไฟไปยังผลงานก่อให้เกิดเงา และจัดการกับพื้นที่แสดง แทรกผลงานเข้ากับพื้นที่ที่มีอยู่เดิม เช่น ประตู ช่องลม และกระจก ให้เป็นส่วนหนึ่งของผลงานตามแนวคิดศิลปะจัดวาง นำเสนอในรูปแบบศิลปะจัดวาง (installation art)  และวิดีโออาร์ต (video art) จัดวางผลงานโดยรอบผนังและพื้นที่ห้องจัดแสดง จำนวนผลงาน 8 ชุด 10 ชิ้น  ด้วยวัสดุสมัยใหม่ แผ่นอะคริลิคใส  สีเมจิก  ผ้า กระดาษ  หลอดไฟ  แผ่นพลาสติกใส  และร่มผ้าดิบ นำสื่อสมัยใหม่อย่างวิดีโอเครื่องฉายโปรเจคเตอร์มาใช้ตามแนวงานวิดีโออาร์ต

Article Details

Section
Articles
Author Biography

สุกรี เกษรเกศรา, คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

References

1. ชูศักดิ์ ศรีขวัญ. “หนังตะลุง-ธรรมะ”. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปมหาบัณฑิต. มหาวิทยาลัยศิลปากร,
2552.

2. บุรินทร์ ธนาวิจิตรกุล. “การรับรู้มิติของแสง เงา และความงามในวิหารวัดต้นเกว๋น”. รายงานการ
วิจัย. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2559.

3. ประชารักษ์ ศรีบรรเทา. “การเกิดเงา”. สืบค้นเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2560.
https://krupracharug.blogspot.com/2010/09/blog-post.html.

4. พิทยา บุษรารัตน์. “การแสดงพื้นบ้าน : เปลี่ยนแปลงและความสัมพันธ์กับสังคมและวัฒนธรรม
บริเวณทะเลสาบสงขลา กรณีศึกษาหนังตะลุงและโนราช่วงปฏิรูปการปกครองรัชกาลที่ 5 ถึง
ปัจจุบัน”. รายงานการวิจัย. สถาบันคดีศึกษาสงขลา, 2546.

5. มัย ตะติยะ. พื้นฐานคนเหมือนในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์
มหาวิทยาลัย, 2551.

6. วาที ทรัพย์สิน. “ประวัติตัวตลกหนังตะลุงในท้องถิ่นใต้.” วิทยานิพนธ์. ศิลปมหาบัณฑิต.
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, 2551.

7. สมพร รอดบุญ. “ศิลปะในรูปแบบอินสตอลเลชั่น (Installation Art) สูจิบัตรการแสดง
ศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 54,” 2551.

8. อรทัย พรมเทพ. “การเรียนรู้ของผู้แสดงหนังตะลุงเพื่อการดำรงอยู่ของหนัง
ตะลุงในสังคมทันสมัย”. Princess of Naradhiwas University Joural 2, 1 (2553): 41-56.

9. อัศวิน ศิลปเมธากุล. การทำรูปหนังตะลุงร่วมสมัย. ปัตตานี: โรงพิมพ์ปัตตานีการช่าง, 2556.

สัมภาษณ์
10. เกษม ขนาบแก้ว, นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญหนังตะลุงจังหวัดสงขลา, 9 ตุลาคม 2558, สัมภาษณ์.