การกลายความคุ้นเคยในสถาปัตยกรรมร่วมสมัย ที่มีผลต่ออัตลักษณ์พื้นถิ่นใหม่: กรณีศึกษาภูมิภาคเอเชียอาคเนย์

Main Article Content

คมสัน ธีรภาพวงศ์

Abstract

บทความนี้เปิดมุมมองในการค้นหาเหตุทฤษฎี และกลไกของการเปลี่ยนแปลง และเกิดใหม่ของอัตลักษณ์พื้นถิ่นในงานสถาปัตยกรรมร่วมสมัย โดยเฉพาะในภูมิภาค เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือที่เรียกกันว่า เอเชียอาคเนย์ ซึ่งเป็นภูมิภาคหนึ่ง ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม และก่อให้เกิดผลกระทบ มากมายหลายด้าน โดยเฉพาะเรื่องของวิกฤติรากเหง้า และลักษณะเฉพาะตัว ของความเป็นพื้นถิ่นที่บรรดานักวิชาการหลากสาขา ต่างพยายามค้นคว้าและถามหา ถึงการรักษารากวัฒนธรรมของตน

อะไรคือรากที่แสดงถึงความเป็นภูมิภาคนั้นๆ อะไรที่ควรคงอยู่และอะไร ที่ควรยอมรับในความเปลี่ยนแปลง บทความนี้เป็นก้าวกระโดดจากแนวความคิด เชิงอนุรักษ์ไปสู่การยอมรับถึงความเปลี่ยนแปลงของรากวัฒนธรรมที่เป็นพลวัต และหมุนเคลื่อนไปเสมอ ตรงนี้เองที่ทำให้เกิดการสร้างกรอบความคิดในการมอง สถาปัตยกรรมร่วมสมัย ในมุมใหม่ที่เริ่มค้นหาถึงกระบวนการ (Process) ที่ก่อให้เกิด ลักษณะเฉพาะถิ่นแบบใหม่ที่ยังคงมีมิติของความเป็นท้องถิ่นและรากของวัฒนธรรม ที่แฝงอยู่อย่างมิอาจปฏิเสธได้ว่ามันเริ่มสร้างภาพลักษณ์ในแบบใหม่ ที่อาจนับได้ว่า เป็นสถาปัตยกรรมแห่ง“ท้องถิ่น” ชิ้นใหม่ที่สามารถต่อยอดความร่วมสมัย เข้ากับ รากแห่งอดีต

ปัจจุบันงานสถาปัตยกรรมที่พยายามแสดงธาตุแท้ของอัตลักษณ์ พื้นถิ่นกับ การตีความใหม่ๆ ในบ้านเรานั้นกำลังเริ่มต้น อย่างไรก็ดีบทความนี้นำเสนอ กรอบความคิดที่กำลังเป็นไปของกระบวนการที่เรียกว่า “การกลายความคุ้นเคย” (Defamiliarisation) ซึ่งเป็นทฤษฎีและฐานความคิดที่ริเริ่มใช้โดยนักเขียน นักทฤษฎีวิพากษ์ชาวรัสเซียที่ชื่อ Viktor Shklovsky ซึ่งถึงแม้ว่าแนวความคิดนี้ จะเริ่มต้นขึ้นมาจากฐานคิดบนงานเขียน และงานศิลปะ แต่สามารถนำมาปรับใช้ เป็นกรอบความคิดในการมองพัฒนาการของสถาปัตยกรรมร่วมสมัยเสมือนเป็น กระบวนการปรับเอาองค์ประกอบของอัตลักษณ์ ความเป็นพื้นถิ่นที่คุ้นเคยมาใช้ ในรูปแบบใหม่ที่ก่อให้เกิดความไม่คุ้นเคย ซึ่งในบทความนี้จะเรียกได้ว่า เป็น กระบวนการ“กลายความคุ้นเคย” ของสิ่งที่เป็นอยู่ ไปสู่สิ่งที่ไม่คุ้นแต่สามารถ แสดงมิติเชิงอัตลักษณ์และความรู้สึกที่ยังเป็น“พื้นถิ่น”นั้นๆ อยู่

บทความนี้ มองสถาปัตยกรรมร่วมสมัยที่เกิดขึ้นจากกรณีศึกษางานในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ของเรา และเชื่อมโยงส่งท้ายว่าลักษณะเหล่านี้ได้เกิดขึ้น อย่างมีกระบวนการ และเป็นทฤษฎีที่เปิดมิติต่างออกไปของประเด็นความคิด ในเรื่องวิกฤติลักษณะเฉพาะถิ่น ที่เกิดขึ้นในงานสถาปัตยกรรม และศิลปวัฒนธรรม ของชาติสืบต่อไป

Article Details

Section
Articles