ผลของโปรแกรมการปรับพฤติกรรมสุขภาพที่มีต่อความรู้ เจตคติ และพฤติกรรมสุขภาพของผู้มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ปกติ

Main Article Content

อาพัทธ์ เตียวตระกูล

บทคัดย่อ

บทคัดย่อ


                การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เปรียบเทียบความรู้ และเจตคติต่อพฤติกรรมสุขภาพของกลุ่มทดลองระหว่างก่อนกับหลังการใช้โปรแกรมการปรับพฤติกรรมสุขภาพ และระหว่างกลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุม และ 2) เปรียบเทียบพฤติกรรมสุขภาพของกลุ่มทดลอง ในระยะเส้นฐาน ระยะทดลองใช้โปรแกรมการปรับพฤติกรรมสุขภาพ และระยะติดตามผล และระหว่างกลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุม


วิธีดำเนินการวิจัย กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ นิสิตคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่มีภาวะน้ำหนักเกินเกณฑ์ปกติ จำนวน 60 คน เลือกแบบเจาะจงจากผู้ที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการวิจัย แบ่งเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมโดยการสุ่มอย่างง่ายด้วยการจับฉลาก แต่เมื่อสิ้นสุดโครงการพบว่ามีข้อมูลครบถ้วนในกลุ่มทดลอง จำนวน 27 คน และกลุ่มควบคุม จำนวน 25 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบทดสอบความรู้ และแบบสอบถามเจตคติเกี่ยวกับพฤติกรรมสุขภาพ ก่อนและหลังการทดลอง ผู้เข้าร่วมโครงการบันทึกพฤติกรรมสุขภาพจากการรับประทานอาหารและการออกกำลังกายในระยะเส้นฐาน ระยะทดลองใช้โปรแกรม และระยะติดตาม วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์ความแปรปรวนหลายตัวแปรสองทางแบบวัดซ้ำ ในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพ และเปรียบเทียบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยการเปลี่ยนแปลงความรู้ และเจตคติต่อพฤติกรรมสุขภาพ โดยการทดสอบค่าที


ผลการวิจัย


  1. การเปรียบเทียบความรู้ และเจตคติต่อพฤติกรรมสุขภาพ ระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมก่อน
    การทดลอง พบว่า มีความแตกต่างอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 เมื่อเปรียบเทียบหลังการทดลอง พบว่า กลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยความรู้ และเจตคติต่อพฤติกรรมสุขภาพสูงกว่ากลุ่มควบคุม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 เมื่อเปรียบเทียบระหว่างก่อนการทดลองและหลังการทดลองของกลุ่มทดลอง พบว่า หลังการทดลองมีคะแนนเฉลี่ยความรู้ และเจตคติต่อพฤติกรรมสุขภาพ สูงขึ้นกว่าก่อนการทดลอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

  2. การเปรียบเทียบพฤติกรรมสุขภาพ ระหว่างกลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุม พบว่า ในระยะเส้นฐาน มีความแตกต่างอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 แต่ในระยะทดลองใช้โปรแกรม และระยะติดตาม กลุ่มทดลองมีคะแนนพฤติกรรมสุขภาพดีกว่ากลุ่มควบคุมทั้งในด้านพฤติกรรมการรับประทานอาหารและพฤติกรรมการออกกำลังกาย อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และเมื่อพิจารณาแนวโน้มของพฤติกรรมสุขภาพ พบว่ากลุ่มทดลองมีแนวโน้มการรับประทานอาหารลดลงและมีแนวโน้มการออกกำลังกายเพิ่มสูงขึ้นในระยะทดลองใช้โปรแกรม และระยะติดตาม แตกต่างกับระยะเส้นฐาน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

Article Details

บท
บทความวิจัย
Author Biography

อาพัทธ์ เตียวตระกูล

อาจารย์ประจำ ภาควิชาพลศึกษาและวิทยาศาสตร์การออกกำลังกาย คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร